บทความที่เก้า ๑๘ พ.ย. ๕๒
แววตาเด็กเป็นประกาย
ศรัทธาในหัวใจของเขากลับมาอีกครั้ง
จิตวิญญาณความเป็นครูก็ได้เติบโตและทำงานอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช
ช่วงบ่ายวันเสาร์ เราเข้ากลุ่มคุยกันเรื่องโครงการหน้างานที่เราทำคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน ฉันอยู่กับกลุ่มเดียวกับพี่นิด ห้วยหิ่งห้อย กับสบลาน เราแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน และประเทืองปัญญา
สุดท้ายเราเชิญอาจารย์ประภาภัทรมาร่วมคุย ให้คำแนะนำเราด้วย
ฉันติดอยู่กับหน้างานของห้วยหิ่งห้อย และความพร้อมของตัวเอง
อาจารย์ประภาภัทร ตีความปัญหาออกเป็นเปราะ มองที่ละปม อาจารย์ว่า คนเรามีศักยภาพหลายก๊อก ปัญหาของเนาว์ และห้วยหิ่งห้อย ตอนนี้มีหลายชั้น ผูกหลายปมเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งตัวสภาพปัญหาของตัวการทำงานในพื้นที่เอง และวาระของตัวเนาว์เองในตอนนี้ ถ้าจะมีทางออก ต้องเป็นทางออกที่ปิ๊งมากๆ ต้องตอบคำถามที่ว่าเด็กที่นั่นต้องการอะไร เด็กที่ห้วยหิ่งห้อยต้องการอะไร อาจารย์คิดว่าเนาว์รู้อันนี้อยู่
ปัญหาอีกปม คือ ความไม่พร้อมของเราเอง
ถ้าคำตอบคือการทำการเรียนทางไกล เป็นการโดดไปตอบคำถามหรือเปล่า
กลับมาที่ตัวเอง เรากำลังจัดการศึกษาตอบสนองกับกลุ่มเด็กที่ยาก
ตัวเราเองต้องมีความพร้อมอะไรบ้างที่จะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ เป็นวิชาครูอย่างหนึ่ง
๑. จิตวิญญาณความเป็นครู
๒. สรรหาสื่อ ทำสื่อ สรรหาการเรียนรู้โดยไม่มีชั้นเรียน โดยการสื่อสาร ทั้งถ่ายรูป เขียน ต่างๆ นานา
๓. ประสานสรรพกำลังทั้งหลาย
ตอนนี้การทำงานที่ห้วยหิ่งห้อยในพื้นที่อาจจะยังทดไว้ก่อน ขบวนการทด แล้วมาสั่งสมความพร้อม ขณะสั่งสมความพร้อมนั้นก็หาหน้างานที่จะกลับไปสู่ที่นั่นให้ได้ อาจต้องมีสถานีการเรียนรู้ จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน แสวงหาความร่วมมือกับทุกคน กับทุน เราต้องมีของโดยไม่ต้องเตรียม เราต้องบ่มเพาะตัวเอง อยู่บนการงานที่มีคุณค่า มีความหมาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการหนุนเสริม มีกัลยาณมิตร หากเรามีจิตวิญญาณความเป็นครู จะทำให้เราจัดการเรียนรู้ได้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช สอนได้ทุกเมื่อ อยู่ตรงไหนก็สอนได้
ฉันถามอาจารย์ประภาภัทรว่าแล้ว สิ่งที่ตรงข้ามกับจิตวิญญาณความเป็นครู คืออะไร
สิ่งที่ตรงข้ามกับจิตวิญญาณความเป็นครู คือ พึ่งพาสติปัญญาคนอื่นตลอด จากการอ่าน จากการคุยกับคนนู้นคนนี้ จิตวิญญาณที่ไม่เป็นอิสระ
ฉันถามต่ออีกว่า ทำไมคนบางคนจึงบ่มเพาะตัวเอง กับอีกคนไม่
คำตอบคือ ต้องเจอทุกข์มาชนเข้าให้จังๆ
แต่ท่านเจ้าคุณบอกว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่เจริญมากแล้ว ไม่ต้องรอให้ทุกข์มาบีบ ให้เราใช้ปรัชญานำทาง เช่น อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ สร้างวิธีบ่มเพาะจิตวิญญาณของตัวเองให้เป็นอิสระ
หรือนายดาบที่ทำตัวเป็น พอลิเย่ คนปลูกต้นไม้
ชีวิตมันมีวาระของมัน หน้าที่เราบำเพ็ญบารมีเข้าไว้ แล้วเราบำเพ็ญบารมีกันอย่างไร ด้วยการทำทาง ถือศีล มีเมตตา วิริยะบารมี ฉันก้มหน้าก้มตาจดทุกคำพูดที่อาจารย์ประภาภัทรว่าไว้ ฉันนำมาใช้เป็นประโยชน์ย่อยได้เสมอ อาจารย์พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่
วันนี้ฉันคงมีจิตวิญญาณครูเต็มเปี่ยมล้นแล้ว ฉันให้วุฒิตัวเองจบวิชานี้แล้ว
วันจันทร์นี้ฉันกลับไปที่สังขละ ด้วยธุระที่ต้องไปคุยกับแหล่งทุนของโรงเรียน World Education รองประธานใหญ่ขององค์กรบินตรงมาจากบอสตันเพื่อมาดูงาน และเป็นโอกาสที่ดีที่ฉันจะได้คุยกับเด็กๆ ที่ห้วยหิ่งห้อยกันอีกครั้ง เรื่องทิศทางของโรงเรียน เด็กที่นั่นต้องการเรียนรู้อะไร ซึ่งอาจารย์ประภาภัทรบอกว่า คิดว่าเนาว์รู้อยู่แล้ว เมื่อฉันได้ยินเช่นนั้น ฉันก็คิดว่าใช่ ฉันก็เชื่อว่าฉันรู้อยู่ดีแล้ว เพียงแต่ว่าฉันนี่เองที่ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับมันจริงๆ ด้วยฉันเองที่ไม่พร้อม
วันนี้ฉันพร้อมแล้ว จิตวิญญาณความเป็นครูของฉันตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเดียว คือแววตาประกายและศรัทธาที่เด็กๆ มีอยู่ ฉันไม่อาจทำลายมันให้หายไปด้วยความไม่พร้อมของตัวตนอันเล็กนิดเดียวของฉัน
สติฉันจะแตก ทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันค้น ค้น ค้น หาแต่ทิศทางของห้วยหิ่งห้อยและวิทยานิพนธ์ ปรึกษาคนนู้นคนนี้ ให้ทั้งห้อง ป.โทช่วยกันด้วย ทิ้งมันไม่ได้จริงๆ ทดเอาไว้ แต่คิดว่าเวลาทดก็หดหายไปเรื่อยๆ เมื่อต้องกลับขึ้นไปสังขละ ต้องไปเจอหน้าเด็กๆ ฉันจะไม่มีคำตอบให้เด็กๆ ไม่ได้ ฉันรู้สึกว่าทำอย่างนั้นกับเด็กๆ ไม่ได้
วันอาทิตย์หกโมงเย็นแล้ว ต้องเขียนรายงาน ต้องเตรียมตัวไปคุยกับ World Education
น้องไผ่ให้สติ บอกว่า “พี่เนาว์ มีคนให้ปรึกษาเยอะแยะก็ดี แต่บางทีก็ยิ่งทำให้เราสับสน ฟังเสียงข้างในของตัวเองสิพี่ พึ่งพาสติปัญญาของสิพี่” ฉันปิ๊งแวบ ฉันรู้แล้วว่าคำตอบที่ต้องปิ๊งมากๆ ในทิศทางของห้วยหิ่งห้อยเป็นอย่างไร ปมอยู่ตรงไหน
World Education เป็นองค์กรทุนในอุดมคติของฉันไปแล้ว เขาเข้าใจในทิศทางของห้วยหิ่งห้อย เมื่อฉันเข้าใจตัวเองก่อนต่างหาก เขาจึงจะเข้าใจฉัน ทิศทางของ world ed เป็นองค์กรที่ทำงานกับเด็กชายขอบ จะตั้งเข็มทิศทำงานด้านการศึกษาทางเลือกมากขึ้นกับเด็กชายขอบ ในอีกห้าปีข้างหน้า เพื่อสร้างวาไรตี้การศึกษาทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ ให้เกิดตามสังคมชายขอบ เป้าหมายร่วมเดินทางไปด้วยกันได้แล้ว เขาตั้งใจมาฟัง ทิศทางบทเรียนของห้วยหิ่งห้อย ฉันสรุปบทเรียนให้เขาอย่างโปร่งใส และแนวทางใหม่ที่มาจากสติปัญญาของฉัน จากการปรับ เปลี่ยน ย่อย ย้อนทวน รื้อถอน และสุดท้ายเจอตอปมตัวจริง
ฉันคิดว่าปัญหาของครูส่วนมาก คือ ไม่มองเข้าไปในแววตาเด็กจริงๆ เมื่อทำการสอน แล้วถามว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรจริงๆ หรือเปล่า ฉันบอกว่าฉันไม่สามารถจัดการเรียนที่มองตาเด็กแล้วรู้สึกว่าเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไร Greg, รองประธาน เคยเป็นครูมาตลอดชีวิต เขาบอกว่าเขาก็เคยมีประสบการณ์นี้ ที่มองเข้าไปในตาเด็กแล้วเห็นว่าเด็กไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เขาบอกฉันทิ้งท้ายก่อนเราล่ำลากันว่า No one never fail if we learn something out of it. เขาบอกว่าเขาศรัทธาในความกล้าหาญของฉันที่จะเปลี่ยนแปลง ย้อนทวน และเปลี่ยนแปลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยการมองเข้าไปในแววตาของเด็ก สรุปว่าเขาให้ทุนทำต่อ และ nominee ให้เราเป็นโครงการต้นแบบและ Pilot project สรุปก็คือให้เวลาทดเราโดยไม่ถอนทุน ไม่ติดเงื่อนไขในการทำงาน ให้เวลาย้อนทวน สรุปบทเรียน และกำหนดทิศทางของตัวเอง สาธุให้ตัวเองค่ะ!
นัดคุยกับเด็กเช้าวันรุ่งขึ้น
เด็กๆ รออย่างมีความหวังอันระส่ำระส่าย เมื่อเด็กๆ เห็นแววตาฉันเป็นประกายกว่าวันวาน เด็กๆ เองแววตาก็เป็นประกาย เรายิ้มให้กัน กินข้าวด้วยกันก่อน แล้วตั้งวงคุย คำถามแรกที่เราคุยกัน คือ หัวใจของหิ่งห้อยยังส่องแสงระยิบระยับสว่างในใจเรากันอยู่หรือเปล่า เรายังพอจะรักษาห้วยหิ่งห้อยของเราให้อยู่กันได้อีกหรือเปล่า เพื่อที่จะให้หิ่งห้อยน้อยๆ รุ่นต่อไปเติบโต เด็กๆ ยิ้มสู้ด้วยสายตาที่ยังเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ฉันอยากกระโดดกอดเด็กๆ ทุกๆ คน
แล้วเราจะบิน จะเรียนกันอย่างไร
คำตอบแรกของไก่ เรียนอะไรก็ได้พี่ อย่างไรก็ดี ที่ได้วุฒิไปประกอบสัมมาอาชีพตามที่ฝัน หาเลี้ยงตัวเองได้ หาเลี้ยงครอบครัวได้ จะได้มีความภูมิใจในตัวเอง
ทั้งคำถามและคำตอบตรงใจ และเข้าก๊อก ครูใหญ่ค่ะ!
“ นั่นน่ะสิวุฒิ กศน. เราเขี่ยทิ้งกันไปแล้ว เรียนแบบห้องเรียน เราก็ไม่อยากได้แล้ว อยากให้เรียนเป็นสิ่งเดียวกับอาชีพกับชีวิต แล้วก็สนุกด้วย มีความสุขด้วย มีหลักสูตรที่บินได้ด้วย กินได้ด้วย ท้องอิ่มกันทั้งครอบครัว”
นี่เด็กๆ รู้กันบ้างรึเปล่า เรากำลังออกแบบโรงเรียน หลักสูตรการเรียนของเรากันอยู่นะเนี่ย ฉันหยอดและแหย่เพิ่ม
“แล้วเราออกวุฒิกันเองได้หรือเปล่า เรามาออกวุฒิกันเองดีมั๊ย”
ฉันสบตากับจีซู เขา คิด ยิ้ม แล้วก็พยักหน้า
ไก่ อมยิ้ม เขินๆ เหมือนรู้สึกจั๊กจี๋
น้อย นิ่ง แต่สายตาย้อนทวนเข้าไปคิดข้างใน
ตีซู หลบสายตา แต่ฉันสัมผัสใจเขาได้ว่า กำลังเต้นแรง
ซาซามิ ยิ้มใส ใจอุ่น
ฉันขอโทษเด็กในวินาทีนั้น ขอโทษว่าวานนี้ที่ไม่พร้อม ไม่พร้อมไม่ได้อีกแล้ว
วันนี้ฉันพร้อมแล้ว พร้อมที่จะให้จิตวิญญาณความเป็นครูของฉันเติบโต ไม่สกัดกั้น ไม่กลัวมันอีกต่อไป จะปล่อยให้มันทำงานอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช
ข้อตกลงใหม่ในการเดินทางร่วมกันใหม่ของหิ่งห้อย
๑.ออกแบบการเรียนกันเอง ออกวุฒิกันเอง จะเรียนอะไร เรียนอย่างไร ให้วุฒิกันเองก่อน แล้วจะเอาวุฒิไปทำอะไร ส่วนเรื่องเปรียบเทียบกับสังคม เป็นเรื่องของโรงเรียนต้องทำให้ แต่เด็กเองต้องสามารถออกวุฒิให้ตัวเองก่อนก่อนที่จะให้ใครมาออกวุฒิให้เรา
๒.หลักสูตรใหม่ กินได้ บินได้ การเรียนไม่แยกชีวิต การงาน ครอบครัว ความฝัน ออกจากกัน
๓.เราไม่ได้เรียนเพียงเพื่อปากท้องตัวเรา ประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเรา เลี้ยงครอบครัวเรา เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเราเล็กนิดเดียว แต่ว่าเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลง ในตัวเรา คนรอบข้าง รวมถึงชุมชน กลับมาพัฒนาชุมชนเรา สร้างโรงเรียนของเรา เป็นครูของห้วยหิ่งห้อยของเรา เพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าตัวตนอันเล็กนิดเดียวของเรา
พี่เนาว์ พี่ไผ่ พี่เขมไม่ได้เป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ ไม่ได้มีรากอยู่ที่นี่ พวกเราต่างหากเป็นคนที่นี่ เป็นครูที่นี่ เป็นคนกำหนด สร้างอนาคตที่นี่ได้ แต่พี่ๆ เข้ามาเพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นศูนย์ทรัพยากร เป็นทางสื่อสารให้เด็กๆ ได้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกหมู่บ้าน ได้รู้เท่าทันสังคม และให้เครื่องมือที่จะทำให้พวกเราอยู่ได้ กินได้ หายใจได้ทีนี่อย่างสร้างสรรค์ชุมชน ต่อสู้กับโครงสร้างอันอยุติธรรมในชุมชน ในสังคมอย่างสันติ
เด็กๆ พยักหน้าหงึกๆ ยิ้มใสใส อุ่นๆ
แววตาเด็กเป็นประกาย
ศรัทธาในหัวใจของเขากลับมาอีกครั้ง
จิตวิญญาณความเป็นครูของฉันได้เติบโตและทำงานอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช
ฉันมีความสุขมาก
ฉันกลับไปที่สวนบ้านเมล็ดดาวกล่อมฝัน ( Whispering Seed ) ไหว้พระพุทธรูปที่ฉันสร้าง ปางสมาธิ พระสิงห์ จากเชียงใหม่ ฉันรู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องที่สุด และทำให้จิตวิญญาณของฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง
- - - - - - - -
เสาร์ที่ผ่านมา
การเสนอวิทยานิพนธ์
ฉันเอาพลังบ้าจากไหนมามากมาย ฉันรู้สึกแต่ว่า นี่วาระการเรียนของฉัน ห้องเรียนของฉัน Reflection และ Transformation ของฉัน ฉันไม่รู้ว่าวิทยานิพนธ์คืออะไรแน่ แต่รู้ว่าต้องทำถ้าจะจบ ป.โท ฉันเห็นคนอื่นๆ ในห้องเสนอหัว ฉันคิดว่าฉันก็ทำได้ ทำไม่ไม่ทำเลย จะรออะไร ทำไม ฉันให้เวลา ใคร่ครวญ ค้นหา ทำงานกับเรื่องนี้ทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
หัวข้อแรกของการทำวิทยานิพนธ์ คือ การสื่อสารองค์กรการศึกษาแนวพุทธ แล้วฉันก็มาถามว่า ตัวสารที่จะสื่อล่ะ การศึกษาแนวพุทธ การศึกษาทางเลือก คืออะไร แล้วย้อนมาถามว่า แล้วการศึกษาแบบที่ฉันต้องการล่ะเป็นอย่างไร คำว่าการศึกษาทางเลือก กว้างเหลือเกิน เมื่อเราสื่อสารออกไปกับสังคม
ฉัน คลิ๊ก กับตัวเองเมื่อถามตัวเองว่า การศึกษาเรียนรู้แบบไหนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉันคิดว่าการศึกษาที่ทำให้ฉันเปลี่ยนแปลง คือ การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นการศึกษาที่ตอบสนองกับชีวิต กับความทุกข์ กับสุข การศึกษาที่เข้าถึงใจ ทำให้เราเข้าใจสัจธรรม มีปัญญา มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระ
ฉันจึงได้หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เจ็ดของสัปดาห์ (เปลี่ยนทุกวัน) ตอนสองทุ่มวันศุกร์ โทรไปหาอาจารย์พี่อ้วน และพี่อวยพร เพื่อขอคำปรึกษาและได้รับการยืนยันว่าเรื่องนี้ “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” จะเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ทำงานต่อยอดทางการสร้างทางเลือกทางการศึกษาเรียนรู้ได้ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครทำ ทำแล้วจะไม่ขึ้นหิ้ง พี่ทั้งสองยืนยัน และตื่นเต้นด้วยกับการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ และจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ฉันลุยค่ะ ถ้ามีเจ้อวยพร และพี่อ้วน แห่งองค์กรต้นกล้า หนุนหลังและถีบส่งขนาดนี้
ทำถึงตีสอง ทำ power point นำเสนอไม่ทัน แต่ก็ได้เอกสารโครงการที่น่าพอใจ และน่าจะเป็นที่เข้าใจ
วันนี้ทีมเมล็ดดาวเดินทางไปด้วยกัน ฉันอุ่นใจ มีพวก จนโดนพี่ปุ๊กหยิก แกมหมั่นไส้ ว่าพี่ไม่ได้มีทีมมาอย่างเนาว์ พี่ปุ๊กกล้าหาญมากที่เอาตัวเองเป็นฐานงานวิจัย ฉันว่าเจ๋ง นี่ต่างหากงานวิจัยที่ต้องเอาตัวเองเข้าแลก ฉันถามพี่ปุ๊กว่าผลที่คาดหวังของวิทยานิพนธ์นี้ ก็น่าจะเป็นที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าท้าทายตัวเองสุดๆ เงียบๆ สุดๆ ในห้อง แต่ว่ากลับเป็นว่ากล้าท้าทายตัวเองสุดๆ ประทับใจพี่แกจริงๆ
ฉันสบายๆ กับการนำเสนอ ไม่ได้คิดว่าเป็นการทำอะไรที่ไม่เป็นตัวเองออกไป จริงๆ น่าจะทำอะไรที่ไม่เป็นตัวเองมากมายขนาดนี้ แต่เป็นมืออาชีพมากกว่า น่าจะมีเอกสาร มี power point จะทำให้ชัดเจนมากกว่านี้ น่าจะนำเสนอโครงการวิทยานิพนธ์ก่อนที่จะให้น้องๆ นำเสนอห้วยหิ่งห้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิทยานิพนธ์ น่าจะตัดต่อหนังไปด้วย แต่ว่าก็ไม่เลวร้าย ทำให้ห้องเรียนตื่นเต้นกันได้นิดหน่อย สนุกดี มีคนให้ความคิดเห็น ตั้งคำถาม ให้ข้อเสนอแนะ เป็นกำไรของชีวิต อยู่ดีๆ ก็มีคนมาช่วยคิด
สิ่งที่พี่เองเสริม เรื่องประสบการณ์ของคนไข้เบาหวาน ว่าต้องมีแรงจูงใจจากการที่มีทุกข์มากระทบ รู้สึกจริงจึงจะเปลี่ยน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่แท้จริง
พี่ปุ๊ ต่อให้จากเอกสารความลึกซึ้งที่จะนำไปสู่ธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงห้าระดับ
ระดับที่ ๑-๓ เป็นเชิงปริมาณ คือ จำนวนข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น จดจำได้และดึงมาใช้ รู้ความจริง วิธีการและนำมาแก้ปัญหาได้
ระดับที่ ๔-๕ เป็นเชิงคุณภาพ นั่นคือ ให้คุณค่า ความหมาย ได้ และสุดท้าย นำไปสู่การวิเคราะห์ ตีความ ย้อนทวน รื้อถอนสู่ เข้าสู่ความจริง สัจธรรม จากเบื้องหลังของประสบการณ์ต่างๆ
อาจารย์อ๊อด เสริมเรื่องการเข้าไปถึงขอบเขตการวิจัยที่ฉันต้องการนำสู่ระดับนโยบาย ง่ายๆ จากการเริ่มจากห้องเรียนป.โท ของเรา
แล้วเราก็เริ่มเข้าสู่วาระการเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในห้อง อ.ประภาภัทร เปิดพื้นที่ให้คณาจารย์แลกเปลี่ยน
อ.ปุ้ม ไม่หยุดที่จะเข้าไปอยู่ในหัวใจตัวเองง่ายๆ อยู่แต่บนหัว จึงได้แต่เจื้อยแจ้ว เรากัดปากตัวเอง อยากจะสกัดให้อาจารย์หยุด นิ่งกับหัวใจตัวเองสักนิด ตัวเราเองก็ยังไม่กล้าจะเข้าไปจัดเป็นกระบวนการขนาดนั้น หวังแต่ว่าอาจารย์น่าจะเข้าใจหัวใจตัวเองได้มากขึ้น เข้าไปค้นหาอยู่กับมันได้นานขึ้น ไม่หนีออกมาที่หัว และมือ และการงานตรงหน้าก่อน ฉันรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนใจห้องเรียนเป็นการเรียนที่เข้ามาข้างในตัวเอง เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
พี่ปาดไม่มา คิดถึงพี่ปาด
ฉันรู้สึกไม่เคอะเขินกับการอยู่ตรงหน้าห้องอีกต่อไป เหมือนได้ผ่านข้อจำกัดอะไร ๆ ไปหลายอย่างในชีวิต การไปทำอะไรหน้าห้องที่มีอ่างที่ดี ทำให้เราและกัลยาณมิตรรอบข้าง เรียนรู้ เติบโตไปด้วยกัน
ชีวิตนี่สนุกดีจัง นึกถึงเรื่องที่จะจบบทความนี้ ภาพของ Baby Buddha ที่พี่นิดปั้นอยู่ในห้องอนุบาล และปณิธานที่ว่า เราเป็นหนึ่งในโลก สามารถที่สุดในโลก เราจะไม่เกิดอีกแล้ว เข้ามาในใจ ฉันเจอนิ๊งหน่อง เครื่องดนตรีชิ้นโปรดที่ฉันเล่นตอนเป็นเด็กอนุบาล ฉันลองเล่นนิ๊งหน่อง คล้ายให้เสียงปณิธานกับตัวเองว่า ฉันควรตั้งมั่นเช่น Baby Buddha เช่นกัน ไม่งั้นก็กลับมาเรียนและเล่นนิ๊งหน่องในห้องเรียนเด็กอนุบาลใหม่ดีกว่า
วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น