วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คำนำการบ้าน ป.โท

คำนำ
กาลครั้งหนึ่ง...
พระผู้สร้างประชุมส่ำสัตว์ของโลกและเอ่ยถามอย่างร้อนใจว่า
“ข้ามีความลับอันสำคัญและล้ำค่า ข้าจะซ่อนไว้จากมนุษย์ที่ไหนดี เขาถึงจะได้พบก็ต่อเมื่อพร้อมแล้ว”
นกอินทรีอาสา “ ข้าจะนำมันบินไปยังดวงจันทร์และซ่อนไว้ที่นั่น”
“ไม่ได้” พระผู้สร้างว่า “วันหนึ่งเขาก็จะไปถึงดวงจันทร์และพบมัน”
“ถ้างั้นข้าจะซ่อนมันไว้ที่ก้นมหาสมุทร” ปลาแซลมอนเสนอ
“ไม่ได้” พระผู้สร้างว่า
“วันหนึ่งเขาก็จะลงไปถึงที่นั่นและพบมันเป็นแน่”
“ข้ารู้ ข้ารู้” ควายร้อง “ข้าจะซ่อนมันไว้ในทุ่งกว้าง!”
“แต่เขาก็จะขุดมันขึ้นมาสักวันแหละ” พระผู้สร้างว่า
จากนั้น ตุ่นก็เอ่ยขึ้น “ก็ซ่อนไว้ในตัวของเขาสิ”
พระผู้สร้างว่า “ได้การ...เพราะเขาจะมองหาที่นั่นเป็นที่สุดท้าย”
“ความลับ” นิทานของชนพื้นเมืองอเมริกา

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
กลับบ้านพ่อแม่ที่สำโรง สมุทรปราการ กลับบ้านพ่อแม่ก็เหมือนกลับบ้านเกิดทุกครั้ง ตื่นแต่ตีสี่เป็นกิจวัตรประจำวัน วันนี้ตั้งใจจะเขียนต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้จบ “การบ้าน ป.โท” และสร้างบล็อคหนังสือเล่มนี้ และพิมพ์ต้นฉบับออกมาส่งคณาจารย์ก่อนวันเปิดเทอมสอง เมื่อวานฉันเดินทางตลอดบ่าย จากพิษณุโลกกลับเข้ากรุงเทพฯ กลับมากับเพื่อนสนิททั้งสองคนจากพิษณุโลก กลับเข้ามาเพื่อมาเรียนวันเปิดเทอมสอง วันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สถาบันอาศรมศิลป์ ระหว่างเดินทาง อึดอัด นั่งในรถแอร์เหมือนไม่มีอากาศหายใจ มีอาการลมขึ้นในร่างกายอีกครั้ง ขับรถจากพิษณุโลกมาถึงรังสิตใช้เวลาสี่ชั่วโมง แต่จากรังสิตไปโรงพยาบาลตำรวจใช้เวลาสี่ชั่วโมงเช่นกัน สี่ชั่วโมงในระหว่างรถติดเกือบนิ่งสนิทในกรุงเทพฯ ฉันควานหาหนังสือท้ายรถเพื่อนมาอ่านได้เล่มหนึ่ง “วิชาห้าสิบเล่มเกวียน” แนะนำห้าสิบหนังสือดี โดย สฤณี อาชวานันทกุล โปรยปกว่า...ถ้าท่านมีเวลาสำหรับอ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียวในโลกนี้ โปรดอ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนได้ศึกษาวิชาดีๆ ห้าสิบเล่มเกวียน เปิดไปหน้าคำนำโดยผู้แนะนำหนังสือเขียนว่า...
เพื่อเตือนสติให้เราระลึกว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง และไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วเพียงใด เราก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งตาม และอันที่จริง การหยุดวิ่งตามโลกนั้น น่าจะเป็นก้าวแรกที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ซึ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีทำ หยุดวิ่งเพื่ออ่านหนังสือดีๆ ที่ไม่โหนกระแส ไม่แห่ตามใคร และไม่เห่อคนดัง
คำนำของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เราพูดในวันสอบสัมภาษณ์เมื่อสมัครเข้าเรียนสถาบันนี้ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒
“ การเรียนรู้ต้องไปข้างหน้า เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัย.” โดย โดโรธี เป็นข้อความที่ฉันจับได้ เพื่อให้พูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างฉับพลัน ฉันจำได้ว่า ฉันพร่ำไปตามนั้น ว่าการเรียนรู้ต้องไปข้างหน้า เพื่อให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ให้ทันสมัยอะไรประมาณนั้นอยู่สักครึ่งนาที ด้วยความตื่นเต้นที่ต้องยืนอยู่หน้าโพเดี้ยมต่อหน้าคณาจารย์และเพื่อนร่วมสมัครเรียนแปลกหน้าเต็มห้อง และเมื่อฉันตั้งสติได้ สูดหายใจลึกๆอีกครั้งหลับตาหนึ่งวินาที อ่านออกเสียงซ้ำทวนข้อความในกระดาษที่จับได้ใหม่อีกครั้ง วินาทีนั้นยังแจ่มชัด... แล้วฉันก็กลับลำและกลับคำพูดออกไปว่า... อันที่จริงฉันไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ตัวเองอ่านสักเท่าใด แท้ที่จริงกลับเห็นตรงกันข้ามและต่างไปอีกด้าน ด้วยการผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวเองมาเกือบสิบปี ฉันเรียนรู้แล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามยุคสมัย วิ่งตามโลก หากแต่ว่าคือการหยุด แล้วมองเข้าไปในตัวตน ย้อนทวน รื้อถอน สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงมา ไม่ใช่การเอาแต่ใฝ่ไป ใฝ่หาวิชาความรู้กันภายนอก และเราไม่จำเป็นต้องทันสมัย หากเราต้องสร้างสมัยของตัวเองขึ้นมา ค้นหาศักยภาพและสติปัญญาที่มีอยู่ภายในตนเอง.
เดือนมกราคม๕๓ เดือนนี้ทั้งเดือนฉันตั้งใจเขียนต้นฉบับหนังสือบันทึกการเรียนรู้การเรียนในสถาบันอาศรมศิลป์ การเรียนปริญญาโทภาคการศึกษาแรกของฉันให้เสร็จ วันนี้คงเสร็จค่ะเหลือเพียงคำนำบทนี้ และการพิสูจน์อักษร เพื่อที่จะพร้อมเขียนวิทยานิพนธ์ในเทอมการเรียนรู้ที่สอง และจบการเรียนปริญญาโท ฉันไม่รู้ว่าคณาจารย์จะว่าอย่างไร ฉันตื่นเต้นและกังวลอยู่เช่นกันกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะถึง ฉันไม่แน่ใจว่าจะทำหน้าอย่างไรกับคณาจารย์ วันเปิดเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฉันยืนยันออกแบบการเรียนของตัวเองไปแล้วว่าถึงเวลาที่ฉันจะเขียนวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นเรื่องของการเรียงร้อย แต่งความรู้ใหม่ จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของฉันเองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการทำงานศึกษาทางเลือก การทำงานเรียนรู้เรื่องการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและความยั่งยืน การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ และที่สำคัญการเรียนรู้จักและเข้าใจในตนเอง ฉันเขียนจดหมายเรียนคณาจารย์ไปว่า ฉันขอเรียนให้จบในเทอมที่สอง ด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าว ให้เวลาเขียนวันละสี่ชั่วโมง และจะส่งให้คณาจารย์อ่านทุกสัปดาห์ และขอลงไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบกลุ่มที่สถาบันเดือนละครั้ง
มีเหตุผลสำคัญจากการออกแบบการเรียนกับสถาบันเช่นนั้น...ฉันเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง ตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ ลาออกจากการอยู่ประจำที่กรุงเทพฯ และย้ายไปอยู่ที่พิษณุโลก เนื่องจากหลายเหตุปัจจัย ทั้งส่วนตัวและส่วนงานอีกทั้งความใฝ่ฝัน เพื่อวิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวม ฉันผ่านประสบการณ์การไม่สบายต่อเนื่องกันสองสัปดาห์หลังปีใหม่ เหมือนกับว่าสารพิษที่สะสมในร่างกายพร้อมใจกันออกมาสะสาง ประท้วงกับตัวเอง สองปีที่ผ่านมาที่ฉันรู้สึกว่าใช้ทรมานร่างกาย ลึกๆจิตใจสับสนวุ่นวาย เหมือนว่าทั้งวิ่งหนีและวิ่งตามและวิ่งไล่หาอะไรสักอย่าง หาก้อนหินก้อนใหญ่หาปัญหาและปมในใจตัวเองไม่เจอ
เมื่อเดือนธันวาคมปลายปีก่อน วิชาธรรมชาติวิจักขณ์ วิชาสุดท้ายของเทอมการเรียนแรก พาเราไปเข้าป่าปลีกวิเวก มีวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองอเมริกันประเพณีหนึ่ง ในช่วงที่คนกำลังเปลี่ยนผ่านระหว่างวัย เขาว่ากันว่า “เขาจะพาคนสับสนไปอยู่กับธรรมชาติ” อยู่ป่าวิเวก อดอาหารสี่มื้อทำให้ฉันค้นพบธรรมชาติภายในตัวเอง เห็นตัวเองแจ่มชัดขึ้น คลายความสับสนเปลี่ยนเป็นการรู้จักและเข้าใจในความเมตตา รักในตนเองรักในผู้อื่นตามที่เราเป็นเขาเป็น ได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง รู้จักเล่นกับเงาของตัวเอง เห็นความงดงามหลากหลายของดอกหญ้าแล้วเชื่อมโยงกับการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว จักรวาล ตั้งปณิธานเพื่อใช้ชีวิตทำการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ตนเองและผู้อื่นบ่มเพาะจิตวิญญาณที่เป็นอิสระ ใช้ชีวิตที่ดีงามมีคุณค่ามีความหมาย

กาลครั้งหนึ่ง...
พระผู้สร้างประชุมส่ำสัตว์ของโลกและเอ่ยถามอย่างร้อนใจว่า
“ข้ามีความลับอันสำคัญและล้ำค่า ข้าจะซ่อนไว้จากมนุษย์ที่ไหนดี เขาถึงจะได้พบก็ต่อเมื่อพร้อมแล้ว”
...
...
จากนั้น ตุ่นก็เอ่ยขึ้น “ก็ซ่อนไว้ในตัวของเขาสิ”
พระผู้สร้างว่า “ได้การ...เพราะเขาจะมองหาที่นั่นเป็นที่สุดท้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น