วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทความที่สอง การเดินทางของคำตอบสัปดาห์ที่สาม

บทความที่สอง
การเดินทางของคำตอบสัปดาห์ที่สาม

ผู้เขียนใช้เวลาคิดมาก เพื่อที่รอ รอความเข้าใจอะไรบางอย่างจะเข้ามาหาในการตกผลึกทางความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับงานการเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย และชีวิตของตนเอง เป็นอาทิตย์ที่ตัวเองจิตใจวุ่นวาย ภายในสับสน และร้อนรน หากแต่ยังพอดีที่รู้ รับรู้ภาวะนั้นและอยู่กับเขา อยู่กับเรา และไม่ปรุงแต่งทางพฤติกรรมและอารมณ์ให้มากไปกว่าเดิม คิดมาก เพ่งจ้องอยู่กับมันมาก เพื่อที่จะเข้าใจ อยู่หลายวัน มีสถานการณ์ต่างๆ เข้ามาเพื่อเร่งเร้าให้ร้อนรุ่มและวุ่นวายไปมากกว่าเดิม คิดมากเพื่อที่จะเข้าใจจนส่งผลมาทางกาย เนื้อตัวปวดเมื่อย มีอาการลมขึ้น นอนก็ตื่นมาคิดกลางดึก
วันที่สี่ของภาวะนี้ ตื่นมาตอนตี่สี่เช่นเคย เขียนออกมาว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราคิด เรากังวล เรากลัว เราต่างๆนานา ประจำวัน และระยะยาวยาว แล้วเราควรจะทำอะไรบ้าง ยาวเป็นหน้า สองหน้า สามหน้า สี่หน้า แล้วได้ว่ามีทั้งงานทำงานภายในตน สื่อสารกับตนเอง และงานหน้าโต๊ะคอมพิวเตอร์ สื่อสารกับสังคม และทำงานกับสังคม เขียนออกมาได้หมด ก็กลับไปนอนต่อ ตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อตะวันส่องหน้า รู้ว่ามีงานหน้าโต๊ะคอมรออยู่มากมาย แต่ตรงหน้าเมื่อมองตู้เสื้อผ้า ห้องนอนตัวเองที่รกเหมือนกับใจตอนนี้ ก็ลงมือจัดการกับตรงหน้าก่อน พับผ้า ซักผ้า ติดผ้าม่าน ทำความสะอาดโต๊ะเครื่องแป้ง ใช้เวลาไปครึ่งวัน แต่รู้สึกว่าบ้านและใจว่างและโล่งขึ้นมามากมาย มีพื้นที่ว่างให้อะไรบางอย่างเข้ามา
กลับมาดูรายการหน้าโต๊ะงาน สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่น่าจะทำ แต่ไม่ต้องตอนนี้ก็ได้ รายการที่เลือกได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในขณะนี้และจะส่งผลระยะยาวในการบริหารการงานที่เราทำ คือ วางแผนการระดมทุนการทำงานเพื่อสังคม ได้หนังสือ ( Fundraising for Social Change by Kim Klein และ Agencies for Development Assistance, Sources for Support for Communities-based Socio-Economic and Religious Projects in Less-Industrialized Countries ) รู้ว่าการระดมทุนเป็นเรื่องที่ต้องทำในการทำงานด้านสังคมและทำแบบลูกทุ่ง ใช้ความจริงใจ ความตั้งใจมั่นแล้วเชื่อว่าจะมีอะไรมาสนับสนุน แต่ไม่เคยศึกษาจริงจังถึงศาสตร์และศิลป์ของเขา ยังมีอีกมากมากที่เราต้องทำอย่างเข้าใจ หนังสือเล่มแรกบอกว่า
Most often people give because they are asked, and being asked reminds them what they care about. และ เป็นหนังสือที่ถามเราว่า Working harder or Smarter or Using tools you need to get fund out of the work you are already doing. เพราะว่า
“We have so little time that we must process very slowly for small organization with tight budget which have little room for errors that result from carelessness and lack of thought.”
อากาศตอนบ่ายๆ ในบ้านที่กรุงเทพร้อนมาก ร้อนจนไม่เหมาะที่จะนั่งทำงานหน้าโต๊ะ ร้อนจนทำให้ตัวเองรู้สึกว่าควรจะหาอะไรบางอย่างทำที่ทำให้ร้อนกายน้อยลงมากกว่าการพยายามนั่งทำงานหน้าโต๊ะ วันนั้นจึงตั้งใจออกไปร้านหนังสือ ออกไปหาซื้อหนังสือที่ควรอ่านในภาคการบริหารการศึกษาที่ห้างสรรพสินค้าเย็นๆ ใกล้บ้าน ปรากฏว่าไม่ได้หนังสือการศึกษาที่หาสักเล่ม แต่ได้พบหนังสือที่เหมือนรู้ว่าเรารอคอยอยู่ ณ กาลเวลาที่เหมาะสม และเป็นแรงให้เราลุกขึ้นมาเริ่มต้นบทความนี้ และได้คำตอบที่เราเพ่ง คิด ค้น และพยายามเข้าใจมาหลายวัน
โต๊ะโตะจัง กับโต๊ะโตะจังทั้งหลาย เขียนโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เห็นหนังสือเล่มนี้ที่ร้านหนังสือนายอินท์ รีบจับเปิดดู หน้าแรกที่เปิดเจอว่า
เด็กหญิงชื่อนิโคล อยู่ประเทศเฮติ ขายตัวอยู่ที่สุสานกลางคืน อายุ ๑๒ ปี ในกระเป๋าเสื้อเธอมีถุงยางอนามัยหลายอัน แต่บอกว่าถ้าลูกค้าไม่อยากใช้เธอก็ไม่ใช้ เราถามเธอว่าไม่กลัวเอดส์เหรอ เธอตอบว่า
“กลัวเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเอดส์ ก็ยังอยู่ได้อีกหลายปีใช่ไหม พรุ่งนี้ที่บ้านหนูไม่มีอะไรจะกินแล้ว”
ภาพของเด็กในห้วยหิ่งห้อย ลอยมาตีแสกหน้า
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน ๒๕๕๒ เล่มปกแข็งราคา ๓๘๑ บาท เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กๆในโลก ในประเทศต่างๆ ที่เมื่ออ่านแล้วเข้าใจได้ว่าเด็กมากมายต้องต่อสู้อย่างยากลำบากเพียงใดเพื่อให้มีชีวิตอยู่ มีอาหารรับประทานทุกมื้อ ได้เรียนหนังสือ มีน้ำสะอาดดื่มและได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วน รู้สึกได้ว่าตัวเองไม่ได้คิดเรื่องราคาของหนังสือแล้ว หยิบมาจ่ายเงิน กลับบ้านมาเปิดอ่านค่อนเล่ม ค่อนคืน แล้วทำให้เราเลิกครุ่นคิด แต่เชื่อมั่นในตัวเองอีกครั้งว่า เราเกิดมาทำไม เรากำลังทำอะไรอยู่ และจะทำอะไรต่อไป การจัดการศึกษาให้กับเด็กมากมายกลุ่มนี้ กลุ่มที่ต้องสู้อย่างยากลำบากเพื่อให้ได้มาเรื่องพื้นฐานการดำรงชีวิต อยู่ ณ ชายขอบของสังคม เป็นคำตอบ
กลับมาโยงกับบทความสัปดาห์ที่แล้ว บทความนี้จะต่อเนื่องกับบทความแรกเมื่อสัปดาห์แรก โดยเริ่มที่งานวิจัยการศึกษาทางเลือกของ ส. ศิวรักษ์ นิยามศัพท์การศึกษาในเบื้องต้นว่า “ การศึกษาคือขบวนการเรียนรู้ ให้แต่ละคนได้รู้จักศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อจะเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ พร้อมๆ กับเพื่อใช้ศักยภาพนั้นๆ รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติและโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างบรรสานสอดคล้องกัน ”
และว่ากันด้วยทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ๕ ประการ ของแอบราแฮม มาสโลว์ เสนอได้แก่
๑. ความต้องการด้านปัจจัยสี่
๒. ความต้องการด้านความปลอดภัย
๓. ความต้องการด้านความรักและความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
๔. ความต้องการด้านความเคารพ ( ตนเองมีคุณค่า )
๕. ความต้องการที่จะเรียนรู้และความต้องการที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพของตน
ตามทฤษฎีนี้ เด็กที่ยังขาดความต้องการ ๓ ประการเบื้องต้น จะไม่สนใจที่จะเรียนรู้ในข้อ ๔ หรือพัฒนาการตนเองในข้อ ๕ นี่เป็นอีกคำตอบของการจัดการศึกษาของศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อยเทอมแรกว่าค่อนข้างกลับหัวกลับหาง ไม่ได้ตอบสนองด้านความต้องการด้านปัจจัยสี่เป็นเบื้องต้นของผู้เรียนและครอบครัวให้ได้เป็นเรื่องสำคัญก่อน ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมาย และไม่ยังประโยชน์ที่สำคัญและจำเป็น ณ วันนี้ที่ท้องหิว ที่บ้านไม่มีข้าวสารกิน ของผู้เรียนได้
นี่ต่างหากโจทย์การสร้างตัวชี้วัดของศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย ระบบการประกันคุณภาพภายในของศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย คำตอบของอาทิตย์นี้ของตัวเอง จึงอยู่ที่การนั่งปรับพัฒนาโครงการใหม่ ทั้งเป้าหมาย ตัวชี้วัดและประเมินของศูนย์ ได้ดังต่อไปนี้
เป้าหมาย
เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการศึกษาเรียนรู้ให้กับเยาวชนซึ่งเข้าสู่การก้าวผ่านระหว่างวัยเด็กสู่วัยรุ่นและวัยแรงงาน ที่ต้องการสำรวจ แสดงออก และสื่อสาร การเรียนรู้จักตัวเอง ผู้อื่น สังคม ธรรมชาติ และความรัก รวมทั้งอาชีพที่ใฝ่ฝัน
เพื่อที่จะรู้จักและพัฒนาบุคลิกภาพและศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อที่จะเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ มีทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตและเรียนรู้ ให้มีความสมดุลและบูรณาการ ทั้งในด้านกาย จิต ปัญญา พร้อมๆกับใช้ศักยภาพนั้นๆ เพื่อผู้อื่น สังคม ให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติและโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์
และสามารถสร้างสุขภาวะปัจเจกและชุมชน จัดการกับความขัดแย้งในตนเองและชุมชน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีความดีงาม
การประเมินผู้เรียน
เราให้ความสำคัญแก่ขอบเขต ๔ ด้านอย่างเท่าเทียมกัน คือ
• ด้านทัศนคติและจิตใจที่ดีงามมีสุข การทำความรู้จักศักยภาพที่แท้ของตนเอง-เข้าใจตนเอง ผู้อื่น โครงสร้างสังคม และธรรมชาติ
• ใช้ศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อที่จะทำงานสัมมาอาชีพวะ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
• การรู้จักแสวงหาและเข้าถึงความรู้ การสื่อสาร ทักษะการปฏิบัติต่างๆ โดยสื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสม
• ใช้ศักยภาพที่แท้ของตนเพื่อผู้อื่น ชุมชน สังคมและธรรมชาติ ให้เกิดความยุติธรรมอย่างสันติ
บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเดินทางของคำตอบที่เข้ามาสำหรับตัวเองในสัปดาห์นี้ ยังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่ยังคงรอการย่อย รอการบ่มเพาะประสบการณ์ และที่สำคัญยังคือการที่ตัวเองยังตั้งมั่น ศรัทธา และเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ในการทำงานที่ตัวเองเชื่อว่ามีความหมาย สวยงาม และสร้างสรรค์ สำหรับเด็กมากมายที่โต๊ะโตะจัง กับ โต๊ะโตะจังทั้งหลายเขียนถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น