วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์ บทความแรก เรามาทำเรื่องการศึกษากันทำไม

การบ้าน ป.โท
บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์

บทความแรก เรามาทำเรื่องการศึกษากันทำไม
๑๒ กันยายน ๒๕๕๓

คำถามแรกของการพบกลุ่มครั้งแรกของหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาแบบองค์รวมจากอาจารย์ประภาภัทร นิยม พร้อมด้วยคำถามอื่นๆ ตามมา และการบ้านที่เราผู้เรียนสมควรศึกษากันมาก่อน ดังนี้ ประวัติการศึกษา กรอบความคิดในการศึกษาประวัติการศึกษา ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการเรียนรู้ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย แล้วอะไรคือสิ่งที่สังคมกำลังเดินไป แล้วเราเป็นจิ๊กซอร์ตัวไหน แบบจุลภาคเราจัดการศึกษากันทำไม
ข้าพเจ้าขอขึ้นต้นบทความคิดด้วยว่า แล้วฉะนั้น นิยามของคำว่าการศึกษาคืออะไร ในงานวิจัยการศึกษาทางเลือกของ ส. ศิวรักษ์ นิยามศัพท์การศึกษาในเบื้องต้นว่า “ การศึกษาคือขบวนการเรียนรู้ ให้แต่ละคนได้รู้จักศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อจะเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ พร้อมๆ กับเพื่อใช้ศักยภาพนั้นๆ รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติและโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างบรรสานสอดคล้องกัน ”
กรณีศึกษา การเข้ามาเปิดโรงเรียนกวดวิชาหน้าโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นหัวข้อสนทนาแลกเปลี่ยนที่เราร่วมกันเรียนรู้ ในชั้นแรกของวิชาบริหารการศึกษา และเชื่อมโยงจากบทความของนายแพทย์ประสาน การศึกษาของเราสอนให้ก้าวร้าวเห็นแก่ตัว อาจารย์อ๊อด ได้ให้กรอบความคิดเพิ่มอีกสองประเด็นว่า เราคือใครในการมาทำโรงเรียน หรือการศึกษา และเราจะสร้างสรรค์อะไรได้บ้าง เพื่อเป็นกรอบในการสนทนา
เมื่อกลุ่มเริ่มแลกเปลี่ยน ประเด็นที่พี่ป่านเสนอหนึ่ง คือ เมื่อสังคมป่วย คนจะฝัน ทำให้ตัวเองเห็นว่าสังคมนี้น่าจะป่วยขั้นเรื้อรัง ( แต่เชื่อว่ายังสามารถเยียวยาได้ ) เพราะตัวเองเป็นคนช่างฝันอย่างเอาการเอางาน และเอาความฝันของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ดีงามสำหรับเด็กๆ และเยาวชน ซึ่งสังคมนั้นดูเหมือนจะเป็นสังคมที่มีสันติภาพ ความยุติธรรม สังคมที่มีความแตกต่าง หลากหลายในทางเลือก และผู้คนเข้าใจและใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อไปสู่เป้าหมายแห่งชีวิตพุทธ คือการพ้นทุกข์ กิเลสทั้งปวง และบ่มเพาะความดีความในตัวตน
กลับมาตอบคำถามที่ว่าเราจัดการศึกษากันทำไม นั่นเป็นเพราะว่าข้าพเจ้าเองเป็นคนช่างฝัน และยังเชื่อในความฝันที่มีคุณค่าและความดีงาม และเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือบุคคลไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ มนุษย์ที่รู้จักตัวเอง เข้าใจสังคม เท่าทันสังคม เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพการทำสิ่งที่ดีงาม และกล้าที่จะฝัน และเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าทุกคนเป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ที่มีความหลากหลาย
หากเมื่อศึกษาประวัติการศึกษา ปรัชญาการศึกษาที่จัดกันมากว่าร้อยปี จะเห็นได้ว่าการศึกษากลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นสูง และชนชั้นปกครอง เพื่อสร้างบุคคลให้คิดไม่เป็น เป็นเพียงเป็ด แรงงานราคาถูก รับใช้สังคมบริโภคนิยม หาใช่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเพาะบ่มเมล็ดพันธ์ ให้เจริญงอกงามในความหลากหลาย เติบโตให้ร่มเงา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่และมีความหมายให้กับสังคม
จะเห็นได้ว่าเราเหล่านักจัดการศึกษาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม เป็นเพียงตัวต่อตัวหนึ่งที่น่าจะอยู่ชายขอบของภาพใหญ่ หรือจะเป็นจิ๊กซอร์ที่อยู่ผิดกล่อง แล้วพยายามเบียดเสียดพื้นที่ในภาพ สร้างพื้นที่ใหม่ในภาพ หรือว่าเราจะเป็นจิ๊กซอร์ในภาพใหม่ ในกล่องใหม่ ที่สร้างพื้นที่ใหม่ ภาพใหม่ในการศึกษาทางเลือกให้กับสังคม
กลับมากรณีศึกษาโรงเรียนกวดวิชามาเปิดปลายจมูกของโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์ประภาภัทรพูดว่า ถ้าเขาเปิด เราปิด นั่นหมายถึงว่าอาจารย์ในฐานะผู้บริหาร ผู้ก่อตั้งโรงเรียน จะไม่ประนีประนอม กับ สังคมบริโภคนิยมที่มาจ่ออยู่ปลายจมูก และเป็นการยืนยันถึงคุณค่าของการศึกษาแนวพุทธที่มุ่งให้ผู้เรียนเข้าถึงปัญญา ที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างภูมิคุ้มกัน และภูมิธรรมให้บังเกิดในพื้นที่เล็กๆ ภาพใหม่ของการศึกษาแนวพุทธของสังคม
ข้าพเจ้าโยงกลับมาที่ตัวเอง ใคร่ครวญว่าข้าพเจ้าเรียนรู้อะไรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นโรงเรียนกวดวิชามาเปิดปลายจมูกของโรงเรียนรุ่งอรุณ ในกรณีการจัดการศึกษาของตัวเองที่จัดการศึกษาที่ห้วยหิ่งห้อย สังขละบุรี กาญจนบุรี ตัวข้าพเจ้าก็มีปรากฏการณ์ไม่แตกต่างจากโรงเรียนรุ่งอรุณสักเท่าใดนัก ในการยืนยันถึงความเชื่อในการจัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนชายขอบซึ่งเป็นวัยแรงงานราคาถูกของสังคมบริโภคนิยม ภายในระยะเวลาปิดภาคการศึกษาหนึ่งเดือน หลังจากสามเดือนที่พวกเราจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่เราเชื่อกันว่าทำให้เด็กได้เห็นศักยภาพของตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความสุข แต่เพียงชั่วระยะเวลาสองอาทิตย์ เด็กกลับหายไป ไปทำงานเป็นแรงงานในเมืองถึงห้าคนจากสิบสี่คน เหตุผล เพราะว่าต้องการรายได้ให้ที่ครอบครัวเพียงพอค่าข้าวสาร ข้าพเจ้ากลับมาทบทวนว่าข้าพเจ้าจัดการศึกษาผิดพลาดตรงไหน ก่อนที่จะไปตีโพยตีพายกับใครๆ
หากมองไปที่สภาพแวดล้อมการจัดการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะเรียนรู้ดีเพียงใด เด็กมีความสุขเพียงใด เด็กก็ไม่สามารถอยู่เรียนกับเราได้ เมื่อตัวเองได้ศึกษา ตามที่มาสโลว์ว่า หากปัจจัยพื้นฐานไม่เพียงพอ ท้องยังหิวก็ยังไม่สามารถพูดถึงเรื่องอื่น เราไม่เคยหิว ไม่เคยอด นักจัดการศึกษาที่ไม่เคยหิว ไม่เคยอด จะจัดการศึกษาให้คนที่ยังหิว ยังอดมื้อกินมื้อได้อย่าง ไร แล้วทุกวันนี้เราจัดการศึกษากันให้ใคร ใครกันบ้างที่จัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนที่ยังหิวยังอด ยังได้รับความอยุติธรรมจากโครงสร้างทางสังคม แล้วการศึกษาสำหรับกลุ่มชนที่ยังหิว ยังอด ควรเป็นเช่นไร เหล่านี้เป็นคำถามที่ข้าพเจ้ากลับมาทบทวนกับตัวเอง
การศึกษาที่ตอบสนองเพียงตลาดแรงงาน ให้โอกาสเขาได้เป็นเพียงแรงงานราคาถูกเพียงเท่านั้นหรือ
ทำไมเรามีกฎหมายให้คนพม่า คนชายขอบอยู่เป็นแค่เพียงแรงงานราคาถูก แรงงานที่ไม่เชี่ยวชาญเท่านั้นหรือ
หรือเราจะต้องมาย้อนมองกันทั้งสังคมกันใหม่ สังคมเราจะมีความยุติธรรม เท่าเทียมกันหรือได้หรือไม่ เรามองคนทุกคนเป็นมนุษย์เท่ากันหรือไม่
สังคมต้องขยับด้วยกัน กับการบริโภค การจัดการศึกษาจะต้องขยับสังคมไปด้วย เด็กต้องได้รับการศึกษาที่ขยับสังคมไปด้วยเช่นกัน หากสังคมยังบริโภคนิยม ก็ยังมีการใช้แรงงานราคาถูก แรงงานเด็ก หากสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยน หากเราจัดการศึกษาที่ทำให้กระบวนทัศน์คนเปลี่ยน ให้สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เราจะจัดกันอย่างไร นั่นเป็นคำถามอีกชุดหนึ่งที่ข้าพเจ้าเริ่มตีโพยตีพายกับสังคม
ว่ากันด้วยทฤษฎีความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ๕ ประการ ของแอบราแฮม มาสโลว์ เสนอได้แก่
๑. ความต้องการด้านปัจจัยสี่
๒. ความต้องการด้านความปลอดภัย
๓. ความต้องการด้านความรักและความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
๔. ความต้องการด้านความเคารพ ( ตนเองมีคุณค่า )
๕. ความต้องการที่จะเรียนรู้และความต้องการที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพของตน
ตามทฤษฎีนี้ เด็กที่ยังขาดความต้องการ ๓ ประการเบื้องต้น จะไม่สนใจที่จะเรียนรู้ในข้อ ๔ หรือพัฒนาการตนเองในข้อ ๕ นี่กระมังที่เป็นบทเรียน และบทสรุปในการจัดการศึกษาสำหรับห้วยหิ่งห้อยในเทอมแรก ปีแรก ของข้าพเจ้า บทเรียนที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม ทำไม ไม่ว่าเราจะเตรียมสิ่งที่ดี สอนดี หลักสูตรที่ดี มีครูที่รักเด็ก มีครูที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำและตั้งใจถ่ายทอดสิ่งนั้นให้กับเด็ก บทประเมินเด็ก ออกมาเด็กให้คะแนนตัวเองมีความสุขเต็มๆ กันเกือบทุกคน แต่ลึกๆ แล้วเด็กยังก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ยังขาดพื้นฐานด้านปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต และยังไม่รู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มด้วยความเป็นบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน ฉะนั้นจะให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามศักยภาพของตนได้อย่างไร
มาสโลว์ เป็นผู้ใช้คำว่า “Humanist Psychology” เพื่อเน้นหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. มุ่งเป้าไปความสนใจที่ประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นหลักเบื้องต้น ผู้เรียนมีพื้นฐานทางประสบการณ์ชีวิตมาอย่างไร
๒. ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพทางเลือกของผู้เรียน เสรีภาพที่จะสร้างสรรค์ ระบบคุณค่าของผู้เรียน และกระบวนการพัฒนาศักยภาพของตนเอง มากกว่าที่จะเพ่งเล็งไปที่จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของการเรียนรู้ หรือความรู้ตามตำรา
๓. ให้ความสำคัญแก่คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน และกระบวนการพัฒนาทางอารมณ์ความรู้สึก
จุดหมายบั้นปลายคือการทำให้เด็กนักเรียนได้พบกับตัวตน และมีความสุขกับชีวิตและการเรียนรู้
คำตอบของคำถามตีโพยตีพายของตัวเองการทำงานเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กชายขอบ ณ ห้วยหิ่งห้อย ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักเสียยิ่งว่าจะละเลยที่ทำเรื่องปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ หนึ่ง สอง สาม ก่อนที่จะไป สี่ ห้า และจะเชื่อมโยงเรื่องโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคม เด็กนักเรียนในศูนย์ห้วยหิ่งห้อย เป็นผลพวงเล็กๆ จากโครงสร้างนั้น เพื่อที่จะได้จัดการศึกษา ซึ่งคือขบวนการเรียนรู้ ให้แต่ละคนได้รู้จักศักยภาพที่แท้ของตน เพื่อจะเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมีสัมมาอาชีวะ พร้อมๆ กับเพื่อใช้ศักยภาพนั้นๆ รับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างสันติและโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างบรรสานสอดคล้องกัน
การจบบทความดังกล่าวด้วยนิยามของการศึกษา ทำให้ข้าพเจ้ากลับมาที่กรณีศึกษาของการเข้ามาของโรงเรียนกวดวิชาที่ปลายจมูกของโรงเรียนรุ่งอรุณ อีกว่าความท้าทายของการจัดการศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ ณ ปรากฏการณ์นี้ เชื่อมโยงกับการสร้างคุณค่าความหมายของการศึกษาข้างต้นและสุดท้ายอย่างต้องกลับมาวางจุดยืนอีกครั้ง กับสังคม และตนเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น