วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันเปิดเรียนวันแรก/วัฒนธรรมใหม่

วันเปิดเรียนแรก/วัฒนธรรมใหม่
๕ กันยายน ๒๕๕๒
“ใส่ผ้าถุงสวยไปเรียน”
แม่บอกว่าระวังนะชายผ้าถุงจะเกี่ยวรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง พ่อถามว่ามหาวิทยาลัยปริญญาโทนี้ชื่อว่าอะไรนะ ขออีกที เรียนแล้วได้วุฒิจริงหรือเปล่า ทำไมต้องใส่ผ้าถุงไปเรียน

“Course Syllabus”
ASI ภาษาและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
ห้องเรียนแรกก็ไม่ธรรมดา อาจารย์มนตราแสนเปรี้ยวจากคณะสถาปัตย์ กับอาจารย์อภิษฎาสุดเรียบร้อย นายทะเบียนอาศรมศิลป์ ดูเหมือนว่าเป็นอาจารย์คู่หูที่เหมาะกันพอดี อาจารย์อภิษฎา (อ.ปุ้ม ) เป็นอาจารย์คนแรกที่เราคุยด้วยทางโทรศัพท์เมื่อคิดจะสมัครเข้าเรียนที่สถาบันอาศรมศิลป์นี้ จำได้ว่าพอเล่าประวัติ เหตุผลของการเข้ามาเรียน อาจารย์บอกว่า “เชิญค่ะ...เชิญมาเรียนเถอะค่ะ ปิดรับสมัครไปแล้วสองวันก่อน แต่จะยืดเวลาให้ครูเนาว์อีกสองวัน ”
ห้องเรียนภาษาและเทคโนโลยีทันสมัย มีเครื่องมือพร้อม เปิดโปรเจคเตอร์ตัวใหญ่ แล้วก็เริ่มด้วยการฉายภาพการสอบวันสัมภาษณ์ที่ตัดต่อ คัดเลือกมาบางคน ฉันหัวเราะกิ๊กข้างๆ อาจารย์โจ้ ธนา ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เรียน ป.โท คณะสถาปัตย์ ฉันบอกโจ้ว่ามีครูเนาว์แน่ๆ ตอนกลับลำ หรือว่าจะพูดให้ชัดก็กลับคำ กลับคำพูดกันกลางเวทีเลย แล้วก็มีจริงๆ เป็นคนที่สองเลย ต่อจากพี่ปาด ฉันขำและเขินตัวเองจนแทบไม่มีสมาธิดูคนอื่นๆ แล้วก็มีอ.โจ้ด้วย โจ้ถามฉันว่าเขาพูดเป็นอย่างไรบ้าง ฉันบอกว่าท้าทายตัวเองบ้างหรือเปล่าล่ะในขณะที่พูด แล้วเมื่อพูดไปแล้วรู้สึกว่าขอบเขตการเรียนรู้ของตัวตนได้เติบโตหรือเปล่า เมื่อฉายภาพจบอาจารย์ก็เปิดวงให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการดู
แล้วอาจารย์คู่หูทั้งสองก็เริ่มเปิดเวทีใหม่ทันทีทันใจ โดยไม่ให้เวลานักศึกษาทำใจ ให้โพเดี้ยมนักศึกษาอีกครั้ง ให้โอกาสนักศึกษาฝึกซ้อมใหม่สด ขึ้นไปพูดแบบฉับพลันอีกครั้ง โดยให้หัวข้อว่า “ฝ่าวิกฤตเพื่อชีวิตที่เป็นสุข” ไม่ธรรมดาจริงๆ อาศรมศิลป์นี่! มีเรื่องให้ทำให้คิดให้อัศจรรย์ใจ ให้ตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ แต่ก็สนุกดี รู้สึกว่าขอบเขตการเรียนรู้ของตนเองจะได้เติบโต ฉันเลือกออกไปเป็นคนลำดับแรกๆ เพราะจะได้โล่งๆ แล้วมีสมาธิฟังคนอื่นๆ
ฉันพูดเรื่อง วิกฤตความสัมพันธ์ของตัวเองที่ผ่านมาสองปี ยังอยู่ในช่วงเยียวยา รักษาและ recover แต่แผลไม่สดแล้ว ฉันจึงนำมันมาพูดในวันนี้ได้ ฉันเรียกมันว่า วิกฤตความรักที่สุขภาวะไม่ดี วิธีการหนึ่งในการฝ่าวิกฤตนั้นมาก็ด้วยการไปหา Counselor คนกลางช่วยไกล่เกลี่ย รับฟัง สื่อสารซึ่งกันและกัน เรื่องหนึ่งที่ counselor เล่าให้ฉันฟังคือเรื่อง บาทหลวงผู้ทำแซนวิชของเขาเอง เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงนครนิวยอร์ก ย่านที่มีคนพเนจรเร่ร่อนพิงพักอาศัยอยู่ข้างถนน บาทหลวงคนนี้จะทำแซนวิชไปแจกคนเร่ร่อนเหล่านั้น วันละครั้ง เรื่องนี้ได้กระพือไปเข้าหูนักข่าว นิวยอร์กเกอร์ จึงเขียนลงข่าว แล้วผู้คนก็แห่กันมาบริจาคเงินให้บาทหลวงคนนี้เพื่อจะได้ทำแซนวิชให้คนจนได้มากขึ้น เศรษฐีคนหนึ่งนำเงินสดมาให้บาทหลวงด้วยตัวเอง หลายร้อยดอลลาร์ บาทหลวงคนนั้นเก็บเงินใส่ซองอย่างดี แล้วเขียนคำว่าขอบคุณส่งเงินคืนให้เศรษฐีคนนั้น แล้วบอกว่า คุณต้องทำแซนวิชของคุณเอง
อาจารย์ counselor คนนั้นเล่าเรื่องนั้นให้ฉันกับคู่รักเก่าของฉันฟังในการพบกันครั้งแรกๆ ฉันจำได้ว่าอาจารย์มองมาที่ฉัน จ้องตาฉันเมื่อเล่าเรื่องนี้จบ ฉันเล่าเรื่องนี้ในการพูดฉับพลันในหัวข้อที่กำหนด ฉันบอกว่าเมื่อเวลาวิกฤตผ่านพ้นมาประมาณหนึ่ง ฉันเข้าใจแล้วว่า การทำแซนวิชของตัวเอง หมายความว่าอย่างไร มันหมายความว่า ในความสัมพันธ์ แต่ละคนในคู่สัมพันธ์ ต้องมีความฝัน มีอิสระ มีพันธะ มีจุดม่งหมายในตัวเอง ต้องรู้จักและเข้าใจในตังเองว่าเกิดมาทำไม แล้วจะทำอะไร ในความสัมพันธ์มักผูกรัดตัดปีกฝันของแต่ละคน จนตัวตนที่แท้ของแต่ละคนหล่นหายไประหว่างทาง
เมื่อมีที่ว่าง ระยะห่างในความสัมพันธ์ ( In Between Space) ถอยห่าง เห็นตัวเองแจ่มชัดขึ้น ค่อยๆ ปล่อยการยึดยื้อ รื้อรั้งความสัมพันธ์ไปทีละนิด ฉันเริ่มเห็นความฝันและทำความฝันนั้นด้วยตัวเองทีละนิดๆ สัมพันธ์กับว่าฉันปล่อยความสัมพันธ์ที่สุขภาพไม่ดีนั้นไปได้มากเพียงใด ท้าทายค่ะ คิดว่าเลือกหัวข้อท้าทายตัวเองกำลังพอดี แต่พอขึ้นไปพูดจริงๆ ก็เกือบตกม้า คิดว่าตกเรื่องเดิม คือให้ตัวอย่างภาพ เหตุการณ์ที่ชัดไม่ได้นัก
หลังจากการผ่านประสบการณ์ อาจารย์ให้ตั้งคำถามหากมี และตั้งวงแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์สดนั้น ฉันถามข้อกังขาว่า หากเมื่อเวลาที่เราไม่มั่นใจในการขึ้นไปพูด เนื่องด้วยสภาวะอะไรก็ตาม เช่นฉันในวันสอบสัมภาษณ์ไม่มั่นใจในกระโปรงที่ยืมน้องมาใส่เลย และก็เหนื่อยจากการเดินทางข้ามคืนมามาก ฉันควรจะพูดออกไป เกริ่นนำออกไปหรือไม่ ฉันเคยคิดและคิดว่าเคยเรียนมาว่าน่าจะไม่บอกนะ แต่ว่าภาพฉายในวันสอบสัมภาษณ์พี่ปาดผู้ที่พูดคนแรก ก็ขึ้นมาเลยว่า “มีคำบอกว่า หากขึ้นเวทีแล้วไม่ตื่นเต้น ควรลาเวทีแล้ว” อาจารย์มนตราตอบว่า คนรับสาร เหมือนคนรับภาพ เมื่อเราบอกว่าเราไม่มั่นใจ ภาพส่งจะเบลอ ไม่ชัดในความรู้สึกของผู้รับสารทันที แต่ในกรณีพี่ปาดนี้ฉวยจุดนี้เป็นโอกาส ส่งสารที่ชัดออกไปกลบความตื่นเต้นได้ คนคนนี้น่าสนใจพี่ปาด พี่ชายใส่แว่น แต่งตัวสุภาพ ใส่เสื้อสูททับเสื้อเชิ๊ตข้างใน ใส่กางเกงสแลค รู้สึกว่าพี่ปาดจะเคยเป็นครูเก่าอยู่ที่รุ่งอรุณ แล้วออกไปอยู่ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาในปัจจุบัน
ตอนท้ายอาจารย์คู่หู สรุปว่า วิทยากรต้องรู้ในทุกสิ่งที่พูด แต่ไม่จำเป็นต้องพูดในทุกสิ่ง พึงสำคัญว่าแล้วคนฟังได้อะไร

ภาคบ่าย
“ป.โท ศึกษาศาสตร์รุ่น ๓ รู้จักกันเป็นครั้งแรก”
อาจารย์ประภาภัทร นิยม เรียกแยกให้นักศึกษาปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ รุ่นที่สามเข้ากลุ่มกันเอง แล้วมาคุยกันว่าจะเรียนกันอย่างไร
สมาชิกนักศึกษาศาสตร์รุ่น ๓ วันนั้นมีดังนี้
๑. ตัวเราเอง เป็นรุ่นกะเปี๊ยกของรุ่นป.โท สามนี้เลย ได้รับเกียรติให้พูดก่อน เราเล่าเรื่องการทำงานเรื่องการศึกษากับเด็กชายขอบที่สังขละบุรี ในโครงการเมล็ดดาวกล่อมฝัน และเติบโตเป็นโครงการเมล็ดดาวเดินทางในปีที่ผ่านมาเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กเยาวชนจบประถมศึกษา ชื่อว่าศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย เหตุผลที่เข้ามาเรียนในสถาบันนี้เพื่อเข้ามาเรียนรู้ และเรียงร้อยประสบการณ์การผ่านการทำงานของตัวเอง อยากเข้ามาหาชุมชนแห่งการเรียนรู้ กัลยาณมิตร คณาจารย์ ที่ปรึกษาที่คอยสะท้อนประสบการณ์ และที่สำคัญต้องาการ “เวลา” และ”พื้นที่” ย่อยประสบการณ์ตน เริ่มเขียนบทความ นิทานไว้หลายสิบเรื่อง เริ่มทำงานเรื่องการสื่อสารสร้างสรรค์กับสังคมในประสบการณ์ที่ตนเองเรียนรู้มามากขึ้น
๒. อาจารย์เสริมพงศ์ ( อ.เปี๊ยก ) มาจากนครสวรรค์ เป็นผู้ชายอาวุโส เชื้อสายจีน ใส่เสื้อแบบคนอินเดียที่ตัดเสริมคอ ตัวเสื้อยาวมาถึงเข่า รูปร่างท้วมๆ ท่าทางการแต่งกายเหมือนผู้ทรงศีลในที สนใจศึกษาในการศึกษาวิถีพุทธ โรงเรียนพ่อแม่ กำลังรวมทีมก่อตั้งโรงเรียนสาธิต หรือว่า มหาวิทยาลัยมหิดลที่นครสวรรค์
๓. พี่ดาริกา ( พี่เอง ) พยาบาลจากนครสวรรค์ แต่กำลังจะลาออกจากพยาบาลมาทำงานด้วยกันกับอาจารย์เสริมพงศ์และพี่จือ พี่เองเป็นหญิงกลางคน สูงผอม ใส่แว่น น้ำเสียงทุ้มพูดช้าช้า เวลาพี่แกพูดขึ้นมาแต่ละครั้งบางทีเราขนแขนลุก เพราะแกเป็นคนพูดด้วยนัยน์ตาช่างฝัน เอาจริงเอาจัง ด้วยคำช้าๆ พี่เองบอกว่าชอบอ่านหนังสือ หนังสือเรื่องโปรดคือ โต๊ะโตะจัง ฉันรู้สึกว่าป้าคนนี้เป็นเพื่อนกันได้ แล้วป้าเองก็บอกว่า แกเคยทำโรงเรียนบ้านๆ เรียกว่า โรงเรียนป้าเองแสนสุข
๔. พี่เพียงพร ( พี่จือ ) เป็นพยาบาลนครสวรรค์ที่กำลังจะลาออกมาทำเรื่องศูนย์สุขภาพและเรื่องของการศึกษาด้วยกัน พี่จืออยู่ในวัยป้าต้นๆ ตัวเล็กๆ ตัดผมบ๊อบสั้นๆ ใส่แว่น ใบหน้าอมยิ้ม ท่าทางใจดี และพูดจาสุภาพมาก
๕. พี่ปาด จำชื่อจริงไม่ได้ แต่จำแกได้ตั้งแต่วันสอบสัมภาษณ์ อยากรู้จักพี่แกมานานแล้ว ตั้งใจฟังเป็นพิเศษ พี่ปาดเคยเป็นนักเสพสารคดี บันทึกการเดินทาง เป็นนักเขียนประจำนิตยสารหลายฉบับ เช่นเมืองโบราณ เคยทำงานเอ็นจีโอประเภทคุ้มครองสัตว์ป่า ปัจจุบันทำการศึกษาทางเลือกอยู่ในโรงเรียนทางเลือกชื่อว่าเพลินพัฒนา เป็นแนวทางการศึกษาทางเลือกที่อยู่ได้ในบริบทสังคมทุนนิยม อยากเข้ามาเรียนที่สถาบันเพื่ออยากย่อยประสบการณ์ที่สะสมมานาน ยังเรียบเรียงให้เป็นระเบียบไม่ได้ อยากจะสะสางอะไรออกไปบ้าง เพราะไม่รู้ว่าย่อยเองจะย่อยถูกหรือเปล่า จะหาผู้นำได้อย่างไร ชีวิตการทำงานตัวเอง overload
๖. อาจารย์กัณฑรัตน์ (พี่ปุ๊ก) อาจารย์สอนสถาปัตย์ภายใน อยู่ที่ธรรมศาสตร์ ตัวสูงผอม ตัดผมสั้น อายุน่าจะสามสิบปลายๆ แต่งตัวเท่มาสอบในวันสัมภาษณ์ นั่งกินข้าวคนเดียว ดูเหงาๆ พี่ปุ๊กเข้ามาเรียนในสถาบันเพราะอยากให้มีคนมาช่วยมองโจทย์ของตัวเองว่ามันคืออะไร อยากได้ resource เหมือนว่าอยากได้ชุมชนด้วย
เรามีกันหกคนในวันนี้ ทั้งรุ่นสามนี้ กลับบ้านพ่อต้องถามแน่ว่ามีเพื่อนเรียนในห้องกี่คน ถ้าฉันบอกว่าหกคนกำลังพอดีพ่อ พ่อจะคิดว่าพอดีด้วยหรือเปล่า หรือว่าจะเหงาเกินไป
อาจารย์สุรพล ( อ.อ๊อด) น่าจะเป็นอาจารย์หมายเลขสองจากอาจารย์ประภาภัทร ดูเหมือนว่าอาจารย์สองท่านนี้จะเป็นคณาจารย์หลักประจำในการเรียนภาควิชาบริหารการศึกษา ตกลงว่าเราเลือกเรียนสาขาบริหารการศึกษากัน
อาจารย์อ๊อด เป็นอาจารย์สูง ขาวเชื้อสายจีน พูดจาสุภาพมากๆ ใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีครึ้มๆ ที่เห็นร่องรอยของการสวมใส่มาหลายภาคการศึกษาแน่ๆ อ.อ๊อดทำหน้าที่เขียนกระดาน สรุปประเด็น ยกประเด็น ความเหมือนในเหตุผลของการเข้ามาเรียนในสถาบันอาศรมศิลป์ของทุกคนอยู่ที่ มีประสบการณ์มาย่อย มาแลกเปลี่ยน มีเวที มีภารกิจ สร้างพื้นที่เรียนรู้ มีโรงเรียน
จบการเรียนวันแรกด้วยการได้รับการบ้านให้ไปอ่านหนังสือเรื่องหลักพื้นฐานทางการศึกษา อ่านสรุป ที่อาจารย์ปิยวัตร์ (อ.เอ๋) มอบหมายให้ แบ่งบทให้อ่านเรียบร้อยแล้วสรุปมานำเสนอในครั้งต่อไป ฉันนึกในใจอะไรจะสำเร็จรูปเบ็ดเสร็จขนาดนั้นในวันแรกของการเปิดเทอม ลุยกันเลยหรือค่ะ
ฉันกลับบ้านอย่างอ่อนแรงกับจราจรในเมือง ไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องปัญหาการเดินทางอย่างไรดี ขอใช้แท็กซี่ก่อนนะ ระหว่างนั่งแท็กซี่ก็ทวบทวนประสบการณ์วันเปิดเทอมวันแรก เหมือนกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง ดูเหมือนว่าในสายตาพ่อแม่จะภูมิใจไม่น้อยกับการกลับบ้านมาเรียนต่อ ป.โท ฉันก็รู้สึกว่าเฮ้อ ลองดูสิ นะ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น