วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การสอบสัมภาษณ์และข้อเขียน

การสอบสัมภาษณ์และข้อเขียน
๘ สิงหาคม ๒๕๕๒
“สอบข้อเขียน”
ขอกระดาษทดค่ะอาจารย์! อาจารย์คุมสอบวิชาภาษาไทยภาคเช้า ของการสอบเข้าปริญญาโท สาขาศึกษาศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์มองหน้า อาจารย์รีบเดินไปหากระดาษเปล่ามาให้ฉันทด พร้อมกับกำชับว่าส่งกระดาษทดด้วยนะคะ
สอบข้อเขียน เขียนเยอะจริงๆ ทำกันเต็มสามชั่วโมงมากกว่าค่อนข้อง ฉันสนุกกับการทำข้อสอบข้อเขียนนี้มาก เหมือนกับได้กลับไปเป็นนักเรียนใหม่ สอบจับใจความสำคัญ ขีดเส้นใต้ ย่อความ แต่งเรียงความ ฉันรู้สึกว่าวิชาภาษาไทยเป็นวิชาของฉัน เป็นวิชาที่เตรียมสอบกันไม่ได้ วันสองวัน หากไม่มีการสั่งสมประสบการณ์การอ่าน การเขียน คลังภาษาไว้ในตัวอย่างเพียงพอ วิชานี้ฉันกินขาดแน่ ทำได้อย่างสบายๆ สนุกกับมัน
หัวข้อการเขียนเรียงความคิด “ บัณฑิตผู้ฝึกฝนตนควรเป็นอย่างไร” และ “ ปัญหาเยาวชนในปัจจุบัน การศึกษาควรจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาอย่างไร” ฉันเห็นหัวข้อเรียงความแล้วยิ้มหวานให้กับตัวเองอีกครั้ง เข้าร่องค่ะ เป็นคำถามที่ดี เหมาะสม ดูเหมือนว่าจะทั่วไป หรือเชย แต่ว่าสำคัญค่ะและเป็นคำถามในใจ
บัณฑิตผู้ฝึกฝนตนควรเป็นอย่างไร
ฉันนึกถึงเรื่องเล่าเรื่องนี้ทันที “บ้านที่ไม่มีประตู” หรือว่า “ประตูและหน้าต่าง” ฉันจำชื่อเรื่องไม่ค่อยได้ เรื่องมีอยู่ว่า...มีชายคนหนึ่งนั่งอยู่ในบ้าน ทุกเย็นเขาจะนั่งมองพระอาทิตย์ตกอยู่ริมขอบหน้าต่าง มีชายอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา บอกว่าท่านรู้ไหมว่าอีกด้านหนึ่งของฟากฟ้า พระอาทิตย์ฉายแสงอันอบอุ่น ในยามรุ่งอรุณ ชายที่อยู่ในบ้านได้ฟังก็พูดว่า ดีล่ะ! ฉันเห็นจะต้องไปสร้างหน้าต่างบ้านทางด้านนั้น ฉันจะได้เห็นแสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ชายนักเดินทางจึงบอกว่า “ บางทีท่านควรจะสร้างประตูบ้านท่าน แล้วเดินออกมารับแสงอรุณยามเช้าด้วยตัวของท่านเอง ”
ฉันคิดว่าบัณฑิตผู้ฝึกฝนตนควรจะทำเช่นนั้น สร้างประตูบ้านท่าน แล้วเดินออกมาอาบแดดแสงอรุณยามเช้าด้วยตัวเอง นั่นก็คือ ออกมาสู่โลกของความเป็นจริง เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง จากโลกความเป็นจริง จากชีวิตจริง ไม่ใช่เพียงแต่เรียนรู้จากตำราวิชาการในห้องเรียน ในรั้วสถาบัน เหมือนนั่งมองพระอาทิตย์ตกดินอยู่ในบ้าน โลกภายนอกมีอะไรให้เราเรียนรู้ มากมาย โครงสร้างสังคมอันอยุติธรรม รอให้เราที่จะเรียกตัวเองว่าบัณฑิต ก้าวเข้ามาเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง
ปัญหาเยาวชนในปัจจุบัน การศึกษาควรจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาอย่างไร
เราคงต้องมาดูกันก่อนว่า ปัญหาของเยาวชนในปัจจุบันคืออะไร ฉันคิดว่าปัญหาของเยาวชนในปัจจุบัน หรือตั้งแต่สมัยฉันเป็นเยาวชนด้วย ซึ่งยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคเดียวกันของเยาวชนเรา คือ การไม่รู้จักคุณค่าและเข้าใจในตัวเอง อีกทั้งนับวันกระแสโลกโลกาภิวัตน์ยังคงบีบลัด พัดพาให้เยาวชนหลงทางไปไกลจากการแสวงหาคุณค่า ความหมายและชีวิตที่ดีงาม
เพราะฉะนั้นการศึกษาควรมีบทบาทที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้จักและเข้าใจในตัวเองเป็นสำคัญ ภูมิใจในตัวเอง เข้าใจพัฒนาการการเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยของตัวเอง จากวัยเด็กสู่วัยรุ่นและสู่วัยผู้ใหญ่ เข้าใจและภูมิใจในรากเหง้า วัฒธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน รู้จักศักยภาพของตนเอง รู้จักและเข้าใจในผู้อื่นอย่างง่ายดาย รู้จักในคุณค่าความงามของธรรมชาติ ศิลปะ รู้จักเข้าใจในความรักตนเองรักผู้อื่นเป็น และที่สำคัญรู้เท่าทันสังคม
How to ทำอย่างไรหรือ ฉันจำไม่ได้ว่าเขียนในประเด็นนี้ไปหรือเปล่า หรือเขียนตอบไปว่าอย่างไร หากให้เขียนตอบตอนนี้ ฉันจะเขียนตอบว่าดังนี้...
กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เยาวชน เห็นตัวเอง เห็นธรรมะ เห็นธรรมชาติในตัวตน และสิ่งรอบข้างอย่างที่มันเป็น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านประสบการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ที่เราจัดกันเป็นสรณะในสังคม ที่ให้ลูกหลานเราเรียนด้วยการท่องจำ ด้วยหลักสูตรเหมารวมกันทั่วประเทศ หากแต่เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ทำให้เยาวชนเราลุกขึ้นมาขยับเขยื้อนตัวเอง สังคม มองดูที่พฤติกรรม ทรรศนะคติ ของตัวเอง กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เยาวชนเราหันมามองเห็นคุณค่า ความสำคัญของตัวเอง พึ่งพาสติปัญญาของตัวเอง
สอบข้อเขียนสนุกค่ะ ไม่กลัวอะไรเลย.
กระดาษทดใช้คุ้มทั้งสองหน้าค่ะ
สอบข้อเขียนตอนบ่าย วิชาภาษาอังกฤษ อนุญาตให้นำพจนานุกรมเข้าห้องสอบด้วย ฉันนึกขำว่าแปลกดี คงเพราะฉันเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ และเรียนอยู่ในอเมริกา มีแฟนเป็นคนอเมริกัน ฉันจึงไม่เกร็งอะไรกับการสอบข้อเขียนวิชาภาษาอังกฤษ ฉันมีแต่พจนานุกรม เล่มหนา Oxford English-English ฉันคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องแบกมาห้องสอบนี้แน่ จึงขอยืมพจนานุกรมเล่มบางๆ คล้ายปทานุกรมจากห้องสมุดห้วยหิ่งห้อยมาด้วย มาเจอเพื่อนๆ หลายๆ คนนั่งหน้านิ่ว คิ้วขมวด บ้างหัวเราะแหะๆ ในการทำข้อสอบ ฉันนั่งมองบรรยากาศ มองหน้าคนอื่นๆ อยู่ในห้องประมาณหนึ่ง เพราะทำข้อสอบเสร็จตั้งแต่ยี่สิบนาทีแรก อาจารย์คุมสอบยังไม่ให้ส่งจนกว่าจะครบครึ่งชั่วโมง ให้เวลาสามชั่วโมงเช่นวิชาภาษาไทยภาคเช้า ข้อสอบเป็นการกากบาท ขีดเส้นใต้ทั้งหมด ไม่ยาก ไม่ง่ายจนเกินไป ฉันคิดว่ากำลังดี ที่ออกข้อสอบภาษาอังกฤษประมาณนี้ ไม่เอาอุปสรรคทางภาษามาเป็นสรณะในการสอบเข้าเรียนสถาบันการศึกษาทางเลือก เพราะคนเราประสบการณ์ด้านภาษาไม่เท่ากัน เพราะเรียนมาไม่เหมือนกัน ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เรา จำเป็นต้องรู้เพื่อเข้าถึงความรู้ในยุคสมัยนี้ได้ง่ายขึ้น แต่ไม่รู้มาก ไม่ได้หมายความว่าคิดไม่เป็น คิดไม่เก่ง รู้เท่าทันตัวเองไม่พอ


๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒
“สอบสัมภาษณ์”
๑๓ สิงหาคม เนื่องจากมีแหล่งทุน ทีมงานจิตอาสา พี่อารีย์ แห่งมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม นำทีมจิตอาสามาร่วมช่วยกันสร้างโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเด็กๆ นักเรียนและชุมชนห้วยหิ่งห้อย พี่อารีย์พาผู้สนับสนุนใหญ่มา เป็นทีมผู้สนับสนุนที่จะช่วยสร้างบ้านหนังสือ และให้ทุนการศึกษาเด็ก อีกทั้งมีทีมถ่ายรายการสารคดี คนละไม่คนละมือ ช่อง ทีวีไทย มาถ่ายทำ ฉันจึงเดินทางวันนี้ไม่ได้ เพราะต้องอยู่ทำภารกิจดังกล่าว สำคัญสำหรับโรงเรียนด้วย ให้ครูคนอื่นช่วยก็ไม่เหมาะ ดังนั้นแผนการเดินทางของฉันจึงเป็นดังนี้.. สำหรับการเดินทางไปสอบสัมภาษณ์...ออกมาจากสังขละบุรีตอนเที่ยงคืน กลางฝนตกหนัก ลงเขาข้ามเช้าวันที่๑๓ ถึงวันที่ ๑๔ วันสอบสัมภาษณ์เลย จ้างรถสองแถวขับมาส่ง หนึ่งพันสองร้อยบาท มาถึงกาญจนบุรี ตีสี่ เพื่อนั่งรถเที่ยวแรกกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ ตีสี่ มาถึงสถานีขนส่งสายใต้หกโมงเช้า กินข้าว แต่งตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า กระโปรงยืมครูรุ่นน้องมา เพราะไม่ได้เตรียมเสื้อผ้าเรียบร้อยไว้ที่สังขละ จะกลับบ้านที่กรุงเทพก็คงไม่ทันการ รองเท้าหุ้มส้นก็ยืมน้องมาด้วย มาถึงสถาบันทันเวลา ได้เตรียมหายใจ สติ
เข้าห้องสอบสัมภาษณ์ตกใจ เพราะคณาจารย์ล้อมวงอยู่ด้านหน้า เพื่อนๆ ร่วมสถาบัน นั่งเรียงหน้ากันสลอนอยู่หลังห้อง มีโพเดี้ยมอยู่หน้าห้อง มีกล้องวีดีโอจับอยู่ด้านหน้าด้วย สังหรณ์ใจอยู่แล้วเชียวว่าวันนี้ไม่ธรรมดาแน่ ฉันได้ลำดับที่สี่ ในการจับฉลากฉับพลัน พูดในหัวข้อที่ตัวเองจับได้ ห้านาที จะมีพัดโบกยกขึ้นมาเตือนเมื่อเวลาเหลืออีกหนึ่งนาที
หัวข้อที่ฉันได้ ประมาณว่า “ การเรียนรู้ต้องไปข้างหน้า เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัย.” โดย โดโรธี
ฉันจำได้ว่า ฉันพร่ำไปตามนั้น ว่าการเรียนรู้ต้องไปข้างหน้า เพื่อให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ให้ทันสมัยอะไรประมาณนั้นอยู่สักหนึ่งนาที หันไปมองที่กล้องวีดีโอ ฉันเห็นปุ่มแดง มีการบันทึกภาพจริง ไม่ใช่เพียงตั้งกล้องขู่ ฉันคิดว่าวันหนึ่งจะต้องเสียใจกับภาพและเรื่องที่พูดแน่หากนำกลับมาฉายดูใหม่ ฉันสูดหายใจลึกๆ หลับตาหนึ่งวินาที อ่านซ้ำทวนข้อความในกระดาษที่จับได้ใหม่ วินาทีนั้นยังแจ่มชัด...
แล้วฉันก็พูดออกไปว่า... ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองอ่านต่อไปแล้ว จากประสบการณ์ของตัวเอง ที่มายืนอยู่ ณ ขณะนี้ ฉันเห็นว่าการเรียนรู้ที่แท้จริง คือการหยุด มองเข้าไปในตัวตน ย้อนทวน รื้อถอน สิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงมา ไม่ใช่การเอาแต่ใฝ่ไป ใฝ่หาวิชาความรู้กันภายนอก และเราไม่จำเป็นต้องทันสมัย หากเราต้องสร้างสมัยของตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่เอาแต่ตามสมัยที่คนอื่น สังคมสร้างขึ้น
เฮ้อ! จำได้แจ่มชัดเช่นกันค่ะ ว่าถอนหายใจเฮือกใหญ่ ในขณะที่เวลายังเหลืออีกหนึ่งนาที ฉันส่งข้อความที่สำคัญ และตรงกับที่เชื่อออกไปแล้วค่ะ ที่สำคัญออกมาอย่างฉับพลัน กลางโพเดี้ยม หน้าห้องที่มีแต่คนแปลกหน้า คณาจารย์เต็มไปหมด ฉันใช้เวลาเพียงสี่นาที เสียเวลาไปตอนต้นหนึ่งนาที เพราะฉะนั้นพูดเนื้อหาที่ตัวเองเชื่อเพียงสองนาที แต่พอสมควรค่ะบวกลบความตื่นเต้น ตื่นตระหนก ความไม่มั่นใจกับกระโปรงและรองเท้าของคนอื่นที่ตัวเองยืมมาใส่ การเดินทางอย่างทุลักทุเลข้ามคืน ฉันคิดว่าทำได้ไม่ขี้เหร่ เหมือนกระโปรงที่ไม่ถูกใจเลยค่ะ ฉันกลับคิดว่าภูมิใจในตัวเองที่กล้ากลับลำ และพูดในสิ่งที่เชื่อออกมา แม้ว่าจะเรียบเรียงตัวอย่างที่ชัดเจนไม่ได้นัก แต่ฉันคิดว่าความคิดหลักที่ส่งออกไปหนักแน่นและชัดเจนแจ่มชัดค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น