วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทความที่ห้า ห้องเรียนของบัณฑิต

บทความที่ห้า
บันทึกการเรียนรู้ในชั้นเรียนบริหารการศึกษา ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒
ห้องเรียนของบัณฑิต

หากบัณฑิตคือผู้ที่กลับมาสำรวจภายในตนเอง แล้วหาบทเรียนจากสิ่งนั้น
ห้องเรียนของบัณฑิต น่าจะเป็นห้องเรียนที่เรียนตามวาระของผู้เรียน ห้องเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงTransformative ของผู้เรียน ห้องเรียนที่ผู้เรียนไม่ได้จำว่าเรียนอะไร แต่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงภายในของผู้เรียน
วันนี้เป็นวันที่ฉันรู้สึกว่าห้องเรียนการบริหารการศึกษา ณ สถาบันอาศรมศิลป์เป็นห้องเรียนที่มีการเรียนรู้ที่แท้จริงของบัณฑิต ฉันกล้าเรียกพวกเราทุกคนว่าบัณฑิตอย่างแท้จริง เพราะวันนี้เป็นวันที่บรรยากาศการเรียนเปิดให้เรากลับมาสำรวจภายในตัวเอง ตามวาระของผู้เรียนแล้วหาบทเรียนจากสิ่งนั้น และพูดถึงการเปลี่ยนแปลงภายในของพวกเรา จากหน้างานที่เราทำ จากประสบการณ์ของแต่ละคน จากบันทึกการเรียนรู้ของแต่ละคน
ฉันพกพาความคาดหวังมากมายที่เป็นเหตุผลในการเข้าไปเรียนที่อาศรมศิลป์ หนึ่งชุมชนแห่งการเรียนรู้ สอง how to การบริหารการศึกษา หลักสูตร สามย่อย สำรวจ ใคร่ครวญประสบการณ์ของตน และสี่เป็นวาระลึกๆ ในใจที่ไม่ได้เขียนในใบสมัคร ซึ่งเพิ่งค้นพบกับตัวเอง คือต้องการที่พึ่ง ต้องการความช่วยเหลือ คำแนะนำ หรือว่าบางทีเขาอาจมีคำตอบให้เรา ฉันสะสมความผิดหวังจากความคาดหวังที่ตั้งไว้สูงสัปดาห์ละเล็กน้อย และพบว่าเวลาที่ฉันมีความสุขและเฝ้ารอที่สุดที่อาศรมศิลป์เป็นช่วงเวลาที่เท้าได้เหยียบทราย และได้เหงื่อ หลังจากการที่บางครั้งต้องปั้นหน้าเอาใจอาจารย์ และเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนมาค่อนวัน
หนังสือ รักเรียน เรียนด้วยรัก ห้องเรียนแห่งความรักและความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียน เฮอร์เบิร์ต เอ็ม.กรีนเบร์ก เป็นหนังสือที่ชั้นเรียนตกลงกันว่าจะอ่านเพื่อนำมาคุยกันในสัปดาห์นี้ นับว่าเป็นหนังสือที่ช่วยชีวิตฉันในสัปดาห์นี้ เพราะฉันตั้งใจว่าอาจจะมาคุยเรื่องลาออกจากสถาบัน เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ตามหวัง (ก็เพราะคาดหวังสูงมาก) อ่านหนังสือจบตอนหกโมงเช้าก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวมาสถาบัน ด้วยความรู้สึกที่เปิดกว้างกว่า เข้าใจอะไรมากขึ้น ว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้อยู่ในตัวเรา และหากเราต้องการเราต้องสร้างขึ้นมาภายในเราก่อน ( อย่างที่พี่นิดพูด ) how to บริหารการศึกษา บริหารทุน อย่างที่พี่ปาดพูด รู้กันแล้วล่ะ ทำกันมาหมดแล้ว อ่านมาเยอะ ทำมาเยอะแยะแล้ว ความช่วยเหลือแนะนำ คำตอบจากที่ปรึกษา จากสัปดาห์ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤต ปัญหามาก็ด้วยตัวเราเอง สุดท้ายคำตอบก็ต้องมาจากเรา ตัวเรานั่นล่ะ ที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จะไปรอพึ่งคำตอบจากใครไม่ได้ ความเข้าใจทั้งหลายเหล่านี้ก็เกิดมาจากการที่ตัวเองให้พื้นที่ในการย่อย สำรวจ ใคร่ครวญประสบการณ์ของตน และหาบทเรียนจากประสบการณ์นั้น และสถาบันเพียงสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหมาะสม
หนังสือว่าอย่างไร บทเกริ่นพูดถึงความรัก ทำให้ฉันเข้าใจว่าอ๋อ เพราะว่าความรักนั่นเอง หากความรักหมายถึง การเอาใจใส่ในบุคคลอื่น การยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความสำคัญและมีความดีงามในตัว ความตั้งใจที่จะฟังความเห็นของเด็ก การยอมรับในความแตกต่างของเด็ก นั่นคือความหมายของความรักที่เฮอร์เบิร์ตให้นิยาม ฉันถึงได้เข้าใจในตัวเองมากขึ้นว่า เพราะฉันมีความรักในตัวเด็กๆ นั่นเองที่ทำให้ฉันทำสิ่งต่างๆ ข้างต้นที่ความรักหมายให้ทำ
การสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่ม เรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคน วันนี้เปิดบรรยากาศกลุ่ม สร้างพื้นที่ไร้อเจนด้าให้พูด แต่ละคนรู้สึกว่ามีอะไรจะพูด มีวาระจะพูด แต่ละคนมีวาระที่ซ่อนเร้น
ประสบการณ์พี่เอง ประสบการณ์พี่จือเห็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพี่จือ จากพยาบาลผู้มีอำนาจเหนือคนไข้ มาสู่ผู้รับใช้ มีแรงขับดันภายในที่จะทำเพื่อคนอื่น อุทิศตัวเอง ในสภาพที่ไม่พร้อมของคนอื่น เราเองมีความคาดหวังอยู่ด้วย ทำให้ใจหวั่นไหวได้ รู้สึกว่าเราทำมาสักพักแล้ว เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
พี่ปาด อ่านเพื่อมาสร้างความสัมพันธ์ แล้วก็มาเลคเชอร์เพื่อนๆ ในห้องเรียน หลังจากฟังพี่ป่านอยู่พักใหญ่ ฉันรู้สึกว่าฉันจะไม่ปั้นหน้าเอาใจใครอีกต่อไป ฉันรู้สึกว่าหากฉันต้องการชุมชนแห่งการเรียนรู้ฉันก็ต้องสร้างมันขึ้นมาภายในตัวฉันเอง และ ณ นาทีนี้ที่ห้องเรียนนี้ แล้วฉันก็พ่นออกไปว่า ฉันตั้งใจว่าอาจจะมาลาออก ณ วันนี้ หากไม่ได้อ่านหนังสือเฮอร์เบิร์ต และหากไม่ได้มีการเอาบทบันทึกของการเรียนรู้ของนักศึกษาร่วมชั้นมาแลกเปลี่ยนกัน ฉันรู้สึกว่านั่นล่ะ ที่ฉันได้ ฉันต้องการชุมชนที่เราร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ให้พื้นที่ตรงนี้ร่วมกันเพื่อเรียนรู้อย่างจริงจัง ที่จะกลับไปดูภายใน ไม่ใช่พื้นที่ของการมาพูดอธิบาย เลคเชอร์ วิพากษ์ระบบการศึกษา ศตวรรษที่เจ็ดสิบ แต่ว่าฉันอยากเรียนรู้ว่าพี่ป่านเป็นอย่างไร กับโรงเรียนเพลินพัฒนา พี่เองเรียนรู้อะไรกับการเปลี่ยนผ่านของชีวิต พี่นิดคิดอย่างไรถึงจะไปอยู่สบลาน พี่ปุ๊กพี่ขนุนต้องการอะไรไปเปลี่ยนแปลงนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพราะฉันตระหนักได้ว่าฉันจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่ได้ จำได้แต่หน้า แต่ก็ไม่รู้ว่าเขามีความคิดฝัน มีประสบการณ์ มีความคิดที่ลึกซึ้งกับเรื่องอะไร มีเป้าหมายอะไรในการมาอยู่ ณ ตรงนี้ร่วมกัน หากแต่ว่าเป็นการมาอยู่ร่วมกันเพื่อวิพากษ์อะไรบางอย่างนอกตัวเรา และไม่ได้พูดถึงการเรียนรู้ภายในของแต่ละคน การไม่รู้ตรงจุดนั้น การไม่รู้จักกัน ไม่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งในกลุ่มชั้นเรียนทำให้ฉันก็ไม่กล้าเปิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตัวฉัน และฉันคิดว่าคนอื่นๆก็เช่นกัน ที่ผ่านมาสับดาห์ก่อน แม้ฉันจะเขียนบทความบันทึกการเรียนรู้แล้วฉันก็ไม่กล้าส่ง หากแต่ว่าเป็นการมาอยู่ร่วมกันเพื่อวิพากษ์อะไรบางอย่างนอกตัวเรา และไม่ได้พูดถึงการเรียนรู้ภายในของแต่ละคน
จากการฟังพี่ปาด ทำให้ตระหนักรู้ว่าเราอยากได้การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน ความสัมพันธ์ อยากฟังเรื่องของพี่ป่านเรื่องที่เอาประสบการณ์ตัวเองที่เพลินพัฒนา ไม่อยากฟังแบบเลคเชอร์จากพี่ป่าน ตีความวิเคราะห์ มากมาย ทำให้เราหลุดออกไปจากความรู้สึก ปัจจุบันขณะ จากประสบการณ์ของแต่ละคน ไร้พลัง
ในขณะที่พี่เอง พี่จือพูด มีพลัง มีความรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลง
การกลับมาดูจิตใจตัวเองเป็นระยะๆ จะสร้างที่ว่างมากขึ้น ทำสิ่งใดๆ ด้วยใจที่เป็นปรกติมากขึ้น
พื้นที่นี้ก็พื้นที่การเรียนรู้ของเราเหมือนกัน เราต้องการการเรียนแบบไหน เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่แท้ก็อยู่ในตัวเรานั่นแหละ อย่างที่พี่นิดว่าไว้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น