วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทความที่หก คนเราจะซื่อสัตย์และศรัทธากับหัวใจตัวเองได้มากแค่ไหน

บทความที่หก
บันทึกสัปดาห์กลางเทอม ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๒

คนเราจะซื่อสัตย์และศรัทธากับหัวใจตัวเองได้มากแค่ไหน

“The faith waiting in the heart of a seed
Promises a miracle of life which it can not prove at once”
ศรัทธาซึ่งรออยู่กลางใจเมล็ดพืช
ให้สัญญาอัศจรรย์แห่งชีวิต
ซึ่งตนพิสูจน์มิได้ในทันที
-- ระพินนารถ ฐากูร—

หนังสือ หิ่งห้อย ของระพินนารถ ฐากูร เข้ามาในชีวิตฉันในสัปดาห์นี้ แทนหนังสือ คุณคือครูคนแรกของโลก การบ้านแห่งการบันทึกการเรียนรู้ของฉันทุกสัปดาห์ ฉันมิอาจจำกัดให้อยู่แต่ในเนื้อหาวันที่เราเรียนกันสัปดาห์ที่ผ่านมา และการอ่านหนังสือเล่มที่เรากำหนดกัน แต่หากสิ่งที่ฉันอยากเขียนบันทึกการเรียนรู้ระหว่างสัปดาห์เป็นเรื่องที่ฉันเรียนรู้ภายในตนมากที่สุด สัปดาห์นี้ฉันเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์กับหัวใจตัวเอง หรือว่ารู้จักหัวใจตัวเองได้มากแค่ไหน
เรื่องเริ่มที่ว่า ฉันนั่งทำงานสถานีทีวีธรรมสำหรับเด็กปฐมวัย แล้วอยากจะสนทนากับเพื่อนที่เป็นธรรมบริกรของศูนย์โคเองก้า ธรรมอาภา พิษณุโลก ของคอร์สอาปานสติสำหรับเด็ก เรื่องที่ฉันอยากจะแลกเปลี่ยน คือเรื่องของการแผ่เมตตาหลังจากนั่งสมาธิว่ามีความเชื่อว่าหากเรานั่งสมาธิแล้วแรงแผ่เมตตาจะมีผล เพื่อนบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยไม่ใช่เพียงความเชื่อ หากเรามีความสุขเราจะส่งคลื่นความสุขให้คนรอบข้าง ฉันว่าอยากไปช่วยคอร์สเด็ก อยากเรียนรู้ด้วย เพื่อนว่าวันอาทิตย์นี้ไง วันนั้นเป็นวันเสาร์ ฉันก็เก็บกระเป๋ามาพิษณุโลกคืนนั้น เพราะเหตุผลกอปรกันสามประการ หนึ่งมาเรียนรู้คอร์สเด็กอาปานสติ สองมาจัดการธุระเรื่องที่ดินที่ซื้อไว้ สามมาเจอเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักเขียนที่รู้จักกันเมื่อสิบปีก่อน

คอร์สเด็กอาปานสติสำหรับเด็ก ที่ศูนย์ธรรมอาภา พิษณุโลก แนวทางท่านโคเองก้า
สืบเนื่องมาจากว่า ฉันค้นหาแก่นของการนำเสนอรายการทีวีสำหรับเด็กมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนเมื่อไม่นานนักที่มีความคิดว่าแก่นของการนำเสนอเรื่องใดๆ ในการทำงานของฉัน ควรมาจาก ธรรมะ จึงจะยังประโยชน์และคุณค่าสูงสุดในการทำงาน และเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ประสบการณ์การเป็นธรรรมบริกร ฉันสรุปได้สั้นๆ โดยคำของ หลวงพ่อชา สุภทโท ว่า
...มันก็เหมือนกับการจะเข้าไปในเมือง บางคนอาจจะเข้าเมืองทางทิศเหนือ ทางทิศตะวันออก ฯลฯ ทางถนนหลายสาย โดยมากแล้วแนวทางภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าหรือเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น
ข้อสำคัญที่สุดก็คือ แนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้วก็ต้องปล่อยวาง แนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

เรื่องที่ดิน
ฉันซื้อที่ดินที่บ้านทรัพย์ไพรวัลย์ พิษณุโลก ไว้เมื่อต้นปีนี้ ที่นี่เป็นที่ที่ฉันเคยไปอยู่กับครอบครัวเพื่อนสนิท ตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และเมื่อกลับมาจากการเรียนที่อเมริกา และไปเริ่มโครงการเมล็ดดาวกล่อมฝัน ( Whispering Seed ) ที่นั่นอยู่หนึ่งปี เมื่อฉันเริ่มทำโรงเรียนที่สังขละบุรี เหมือนฉันตระหนักรู้ในตัวเองชัดมากขึ้นว่า ที่นั่นไม่ใช่บ้านและไม่ใช่ที่ที่เราใช้ศักยภาพที่เรามีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ฉันได้เดินทางกลับไปที่พิษณุโลกเมื่อต้นปี และได้ซื้อที่ดิน 14 ไร่ ใกล้ๆบ้านครอบครัวเพื่อนสนิทที่นั่น เป็นที่ที่เมื่อฉันเจอแล้วฉันเห็นภาพว่ามันจะเป็นหมู่บ้านนิทานเด็กที่สนุกและทำให้เด็กมีความสุขมาก และอาจจะเป็นบ้านของฉันได้ในวันหนึ่ง คราวนี้ฉันต้องไปเพื่อทำเอกสารเกี่ยวกับการเข้าทะเบียนบ้านที่นั่น และตั้งใจจะไปปักเขตที่ดิน
กลับไปที่นั่นครั้งนี้ รู้สึกว่า “ คิดถึง” ที่นั่น ๑๐ ปีแล้วที่เรารู้จักกันมา

เพื่อนนักเขียนที่รู้จักกันเมื่อ ๑๐ ปีก่อน
เพื่อนนักเขียนคนนี้เคยเป็นคนที่เคยไปขอพำนักตัวเองอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทเมื่อ ๑๐ ปีก่อนเพื่อบ่มเพาะเส้นทางการเป็นนักเขียน ที่อาศรมวงศ์สนิทเป็นที่ที่เราเจอกัน ตอนนั้นพี่ประชา หุตานุวัตร พูดถึงงานเขียนของเขาว่าหนังสือของเขาเขียนให้เทวดาอ่าน แปดปีผ่านมา คือสองปีก่อนหนังสือกวีทำมือของเขา เข้ารอบเจ็ดเล่มสุดท้ายของซีไรต์ จนวันนี้เขาเขียนหนังสือออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณ ๒๐ เล่ม
เราแลกเปลี่ยนเรื่องราวช่วงเวลาที่เราไม่ได้เจอกันมา ๑๐ ปี
เขาให้อ่านงานเขียนหลายๆ ชิ้นของเขา ฉันก็ยังคล้ายๆ พี่ประชาว่า ฉันคงต้องเป็นนางฟ้าถึงจะอ่านเข้าใจมากกว่านี้ มีพื้นที่เหลือให้ตีความมากมายเหลือเกิน ฉันบอกเขาว่าฉันอยากเข้าใจงานเขียนของเขาโดยที่ยังไม่ต้องเป็นนางฟ้า เขียนงานมา 20 กว่าเล่ม และหลายหลายประเภททั้งในกวี เรื่องสั้นอีโรติก ภาพวาดประกอบ วรรณกรรมเยาวชน นิทาน ฉันเลือกให้เขาเล่านิทานที่เขาเขียนเกี่ยวกับลูกสาวของเขาที่อยู่กับแฟนเก่าของเขา เพราะดูเหมือนว่านั่นเป็นเรื่องที่เขาสะเทือนใจและมีทุกข์อยู่ เมื่อเขาเพิ่งบอกกับฉันว่า “ไม่มีบรรทัดไหนที่คนอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ โดยผู้เขียนไม่สะเทือนใจเป็น ๕ เท่ามาก่อน”
นิทานเรื่องพ่อกวางผากับลูกกวางผา โดยอุเทน มหามิตร
นิทานเรื่องที่โยงให้เห็นศรัทธาในเมล็ดพันธ์แห่งอุดมคติ คุณค่า ความงามของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย
พ่อกวางผา กับลูกกวางผา อยู่ด้วยกัน พ่อกวางผามักจะไปที่หน้าผา และกระโดดจากหน้าผา โดยที่มีลูกกวางผาเฝ้ามองด้วยความไม่เข้าใจ และเจ็บปวด เมื่อเห็นพ่อกวางผา เดินกลับมาอย่างบาดเจ็บ วันหนึ่ง วันนั้นเป็นวันที่มีลมโชย พ่อกวางผากำลังจะกระโดดโจนลงไปที่หน้าผา ลูกกวางผาตัดสินใจแล้วว่าวันนั้นจะกระโดดลงหน้าผาไปก่อนพ่อ พ่อกวางผาตกใจ และเข้าใจในความเจ็บปวดของลูกกวางผา และคิดว่าจะต้องเลิกกระโดดโจนหน้าผา
เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ตอนที่พ่อกวางผายังเป็นกวางน้อย พ่อกวางผากระโดดลงหน้าผา เพราะเชื่อว่ามีลมหวนที่จะพัดพาเราขึ้นมาจากเบื้องล่างสู่ท้องฟ้า และวันนั้นเป็นวันที่มีลมพัดหวน
แล้ววันนี้ก็เป็นวันที่มีลมพัดหวนอีกครั้ง ลูกกวางผาขึ้นมาจากก้นผากับสายลมหวน ขึ้นมาหาพ่อกวางผา ด้วยความเข้าใจ และค้นพบศรัทธาในตัวของพ่อเขา จากนั้นพ่อลูกกวางผา จะกระโจนลงผาด้วยกันในวันที่มีลมพัดหวน.
เมื่ออุเทนเล่านิทานเรื่องนี้ให้ฉันฟัง ฉันอ่านบทกวีที่ฉันใช้ขึ้นต้นในบทความนี้ให้เขาฟัง
“The faith waiting in the heart of a seed
Promises a miracle of life which it can not prove at once”
ศรัทธาซึ่งรออยู่กลางใจเมล็ดพืช
ให้สัญญาอัศจรรย์แห่งชีวิต
ซึ่งตนพิสูจน์มิได้ในทันที
 ระพินนารถ ฐากูร—

ฉันรู้สึกว่าได้รู้จักเพื่อนคนนี้ดีอีกครั้งแล้ว และจำได้ว่าครั้งแรกที่เรารู้จักกันได้ด้วยศรัทธา ความฝัน ที่เราทั้งสองมีของกันและกันซึ่งแต่ละคนพิสูจน์ไม่ได้ในทันทีใน ๑๐ ปีก่อนนั้น แต่ว่าวันนี้ฉันคิดว่าเมล็ดพันธุ์ศรัทธานั้นได้เติบโต และเริ่มออกดอกผลแล้ว เราใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพียงสี่วัน เรารู้สึกว่าเรารู้จักกันดีและเติมเต็มเวลา ๑๐ ปีที่เราห่างหายกันไป และคิดว่าอะไรบางอย่างข้างบน หรือที่เราเรียกกันว่า โชคชะตา ทำให้เรามาบรรจบพบกันในเวลา สถานการณ์ เงื่อนไข และปัจจัยที่เหมาะสม
การเดินทางไปพิษณุโลกครั้งนี้ ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทำให้ฉันรู้จักหัวใจตัวเองมากขึ้น และกล้าซื่อสัตย์กับหัวใจตัวเองมากขึ้น ย่อหน้าจบของบันทึกการเรียนรู้ในสัปดาห์นี้ ฉันเลือกที่จะจบด้วยบทกวีจากหนังสือ หิ่งห้อย อีกครั้ง
“My love of today finds no home
In the nest deserted by yesterday’s love”
รักข้าวันนี้ มิอาจพำนัก
ในรังซึ่งรักวันวาน ได้ผละจากไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น