วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทความที่แปด “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง”

บทความที่แปด บันทึกการเรียนรู้จากห้องเรียน ๗ พ.ย. ๕๒
“เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง”

เสาร์นี้ฉันตั้งใจนั่งรถเมล์ไปเรียนด้วยการยอมรับสภาพความเป็นจริง หากฉันจะไปเรียนที่อาศรมศิลป์อย่างจริงจังและจะทำงานที่นั่นด้วย นั่นก็คือต้องเดินทางไปมาจากบ้านฉันสำโรงกับพระรามสองมากขึ้น ฉันคงจะนั่งแท็กซี่ทุกวันไม่ไหว ทั้งๆ ที่ฉันเคยตั้งรางวัลให้ตัวเองกับการทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ชายขอบว่า เมื่ออยู่ในกรุงเทพจะไม่ต้องนั่งรถเมล์ นั่งแท็กซี่ได้โดยไม่รู้สึกผิด แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนเป็นฉันอยู่กรุงเทพมากขึ้น นานขึ้นกว่าที่เคย และอาจจะประจำสองปี หรือนานกว่านั้น รางวัลการนั่งแท็กซี่ไปไหนมาไหนในกรุงเทพอาจเป็นโมฆะไปโดยปริยาย ฉันก็ไม่ได้เรียกร้องความสะดวกสบายอะไรในชีวิตให้ตัวเองมากมาย แต่การนั่งรถเมล์ในกรุงเทพนี่เป็นการเสียอารมณ์ เสียเวลาชีวิตมากเกินไป ไม่ใช่เพียงเพราะไม่สะดวกสบายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางเลือกฉันก็ไม่มากนัก ค่าแท็กซี่ไม่ไหวแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่ฉันมีได้ ก็คือขับรถมาเอง ฉันก็ไม่กล้าขับรถอีก แต่อย่างไรก็ตาม เมือเย็นวานศุกร์เมื่อฉันตัดสินใจว่าวันเสาร์นี้คงต้องลองนั่งรถเมล์ไปเรียน ฉันก็ให้น้องชายพาไปเรียนขับรถ ทุกคนในบ้านตกใจ และปรามาสว่า หัดมาเป็นสิบครั้ง ไม่เห็นฉันกล้าขับออกถนนสักที เอาล่ะ เย็นนั้นฉันมีแรงจูงใจภายในแล้วว่าจะต้องขับรถให้ได้ ไม่งั้นก็นั่งรถเมล์

ขึ้นรถเมล์ผิดสายอีก โอ้ย แม่เจ้า

ฉันชอบสะพานยกระดับมาก รู้สึกผูกพันกับมันอย่างไรไม่รู้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็น รู้สึกว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมที่คลากสิคอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ ทุกครั้งที่ได้ข้ามสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานพระราม ๒อยากมีกล้องวีดีโอ แพนถ่ายภาพบนสะพาน ตอนพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ฟ้าสาง พลบค่ำและยามค่ำคืน น่าจะเป็นฉากหนังที่คลาสสิคได้อีกฉากหนึ่ง

อย่างไรก็ตามฉันก็มาถึงอาศรมศิลป์เจ็ดโมงสิบห้า มีเวลาเดินเล่นในรุ่งอรุณและอาศรมศิลป์ โดยรู้สึกว่ามันเป็นที่ที่มีชีวิต มีเรื่องราว มีวิถีของมัน และเริ่มผูกพันกับมันอย่างเป็นธรรมชาติ การก่อสร้างอาคารเรียนแต่ละหลังออกแบบได้อย่างพอดี มีศิลปะ เรียบง่ายแต่มีดีไซน์ มีกลิ่นอายของความเป็นไทย และไท และเชื้อเชิญให้เราเข้าไปค้นหา เรียนรู้โดยไม่เค้อเขิน บ่อน้ำใจกลางโรงเรียนและทางเดินไม้รอบสระน้ำเป็นความคลาสสิคที่ไม่ได้มีกันง่ายๆ ในโรงเรียนในกรุงเทพย่านพระราม ๒ อาคารเรียนสร้างจากไม้บ้านเก่า เป็นเสน่ห์ที่กำลังพอดีและน่ารัก ฉันเดินไปอาศรมศิลป์ ยังมีคนมาไม่มากนัก ฉันก็ได้มีเวลาอยู่กับสถานที่ จำได้ว่ามาครั้งแรกที่อาศรมศิลป์ โจ้ อ.ธนา พาเดินดูบริเวณรอบๆ ฉันบอกโจ้ว่าถ้าชวนให้มาทำงานที่นี่ มาเลยนะ เพราะอาคารก็เชื้อเชิญให้น้ำลายสอขนาดนั้น ถ้าได้นั่งทำงานในอาคารที่สวยขนาดนี้คงมีความสุขมาก ฉันได้เข้าไปดูในอาคารที่คนงานกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นลอยและบันได โอ้โห เหมือนในฝัน วันแรกที่โจ้พาเข้ามาฉันก็คิดว่าอาคารหลังนั้นยังโล่งๆ ไปหน่อย โถอากาศกับเพดานหลังคามากเหลือเฟือเกินไปรึเปล่า ถ้ามีระเบียงลอย ( loft) บันไดวนๆ สวยๆ จะทำให้มันฟังก์ชั่นและความมันส์มากขึ้น ฉันแอบเดินไปดูโต๊ะคนทำงาน โต๊ะอาจารย์โจ้ รู้สึกว่าตื่นเต้น แล้ววาดภาพตัวเองว่าจะอยู่ตรงไหน ฉันไม่เคยทำงานประจำที่ไหน และไม่เคยมีโต๊ะทำงานนั่งรวมหมู่กันขนาดนั้น จะทำงานกันอย่างไรในที่ที่มีคนนั่งอยู่ด้วยกันมากหลายคน จะหายใจกันออกหรือ แต่วันนี้ฉันคิดว่ามันคงเป็นไปได้ แต่ละคนก็ทำงานของตัวเองไปสิ มีหน้างานของแต่ละคนอยู่ แบ่งอากาศหายใจร่วมกันได้ในห้องที่มีเพดานสูงขนาดนั้น แล้วฉันก็นอนเล่นที่สะพานไม้ที่ทอดผ่านสระบัวและมีซุ้มต้นอ้อยอยู่ใกล้ๆ วันนี้ฉันคงรับเอารุ่งอรุณและอาศรมศิลป์เข้ามาในหัวใจ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่จริงๆ แล้วกระมัง ทั้งในส่วนของสถานที่และตัวบุคคลที่นี่ รู้สึกอย่างนี้ได้ก็อบอุ่นหัวใจดี

จากหลังซุ้มอ้อยที่ฉันนั่งอยู่ ฉันเห็นอาจารย์ประภาภัทร และพี่แบนเดินเข้ามาด้วยกันพอดี ทำให้ฉันนึกถึง ๑๐ ปีก่อนได้ ที่เคยไปคุยกับพี่แบนที่สาธร น่าจะเป็นที่มูลนิธิรุ่งอรุณ พี่ป๋อ ยุทธชัย เฉลิมพิชัย เป็นคนพาไปแนะนำ ฉันเล่าให้พี่แบนฟังถึงความฝันของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เมล็ดดาวกล่อมฝัน ณ ขนาดนั้นให้พี่แบนฟัง ฉันว่าฉันอยากได้พื้นที่สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ พี่แบนให้ไปดูที่ที่จังหวัดเลย และที่อาศรมรุ่งอรุณ ฉันไปทำความรู้จักสถานที่และสมาชิกในชุมชนที่นั่นทั้งสองที่แต่ ณ ขณะนั้นฉันไม่รู้สึกว่ามันเป็นที่และกาลเวลาที่เหมาะสมกับช่วงชีวิตของฉัน ในเวลานั้นฉันฝันที่จะถากถางที่ทางใหม่ของตัวฉันเองด้วยตัวฉันเองก่อน
อาจารย์ประภาภัทรฉันก็เคยได้เจอมาก่อน เมื่อประมาณห้าปี่ก่อน ที่งานประชุมเรื่องชุมชนทางเลือกที่อาศรมวงศ์สนิท ฉันแลกเปลี่ยนในวงเสวนาเรื่องของพลังการขับเคลื่อนการทำงานทางสังคม ด้วยการใช้สื่อดิจิตอลง่ายๆ ที่สมัยนี้ใครๆ ก็เรียนรู้ทำกันไม่ยาก และราคาไม่แพง อาจารย์นั่งอยู่ในวงเสวนานั้นด้วย แล้วก็เดินเข้ามาหาแล้วมาให้นามบัตร และชวนให้มาทำงานที่รุ่งอรุณ ฉันเห็นชื่อในนามบัตรแล้วตกใจว่าเป็นถึงผู้อำนวยการรุ่งอรุณ ที่เขาลือกันว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกราคาแพงเชียวหรือ ฉันก็สนใจและคิดอยู่ประมาณหนึ่ง แต่ขณะนั้นฉันก็อยู่ในช่วงเวลาของการบ่มเพาะที่ทางใหม่ที่ฉันไปถากทางไว้แล้ว แต่นามบัตรที่อาจารย์ให้ฉันก็ยังเก็บไว้ ณ วันนี้

ณ วันนี้ เวลาและเงื่อนไขอันสมควรก็เดินทางมาถึงแล้วกระมัง

เข้าห้องสวดมนต์ พี่แบนยิ้มให้ เหมือนรู้ว่าเราเพิ่งคิดถึง หรือว่าอาจารย์ประภาภัทรจะไปเล่ากิตติศัพท์ของเราให้พี่แบนฟัง บทมงคลชีวิตเป็นบทที่ฉันรู้สึกว่าได้ประโยชน์มากกับตัวเองวันนี้ และทำให้ฉันเห็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นมงคลกับชีวิตฉันมาพอสมควร

เข้าห้องเรียน อาจารย์ประภาภัทรเล่าให้ว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาไปภูฐานมา แล้วก็มหิดล อาศรมวงศ์สนิท คนค้นคน สนุกมาก ฉันทึ่งและประทับใจในตัวอาจารย์มาก ว่าหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาอาจารย์ได้ทำอะไรมากมายแล้วก็มานั่งในห้องเรียนอย่างสดชื่นและมีพลังตรึงผู้เรียน ป.โทได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

อาจารย์ขึ้นว่าวาระของผู้เรียนวันนี้เป็นอย่างไร แล้วครูจุ๋ม ครูอ๋อดก็ขึ้นด้วยการตกลงกันใหม่เรื่องการออกไปดูงาน เปลี่ยนวันเวลา ฉันขอสละสิทธิ์ในการไปดูงานศรีษะเกษ เนื่องจากฉันจัดเวลาชีวิตการงานฉันไว้ดีแล้ว ไม่ต้องการเปลี่ยนไปมา ถ้าไม่ใช่ไฟล์บังคับ หรือว่าจะต้องนั่งไฟล์บินตามไป ใช่ว่าฉันจะมีเงินถุงเงินถัง
ในช่วงเวลานี้ไปซื้อตั๋วเครื่องบินได้ และฉันก็ไม่คิดว่าฉันอยากเรียนรู้ในสิ่งที่จะไปดูงานกันสักเท่าไหร่ มันคงไม่ใช่วาระของฉันในช่วงเวลานี้ ฉันก็เลือกที่จะไม่ไป เพราะจริงๆ ฉันก็บอกตั้งแต่เข้าเรียนแล้วว่าฉันรู้สึกว่า ฉันไม่อยากไปเรียนรู้ดูงานที่ไหนนัก ดูมามากแล้ว ใช่ว่าไปดูแล้วจะได้ประโยชน์แน่ แต่ไม่ต้องไปก็จะทำให้เรียนรู้และลงลึกกับสิ่งที่เรียนรู้มาตั้งมากมายแล้วย่อยมันออกมาก่อน ไม่งั้นย่อยกันไม่ทัน

ฉันรู้สึกขุ่นๆ กับการใช้เวลาในการทำข้อตกลงเรื่องการไปนู่นไปนี่ ตารางเวลากันมากเกินไป แทนที่จะได้เข้าสู่บรรยากาศการเรียนกันจริงจัง

อาจารย์รุ่งอรุณนำเสนอหัวข้อสหวิจัยที่ร่วมกันทำ ๑๐ คนในเป้าเดียวกัน ฉันฟังอย่างตั้งใจตื่นเต้นในตอนแรกว่ามันจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนา-เปลี่ยนแปลงโรงเรียนรุ่งอรุณ และวงการการศึกษาทางเลือกในบ้านเราอย่างมหาศาล เมื่อมีการสื่อสารสู่สังคมวงกว้าง หากงานวิจัยนั้นมี action และ active ไม่ใช่ passive เพียงแค่ถอด ประสบการณ์ แต่มี project ปฏิบัติการ พัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวจริง ไม่ใช่เพียงภาพฝันในกระดาษงานวิจัยที่อาจจะเพียงได้นำเสนอต่อคณาจารย์และเก็บไว้ในห้องสมุด หากแต่เป็นงานวิจับควบคู่ปฏิบัติการ ทดลอง เปลี่ยนแปลง วัดผล เปลี่ยนแปลงสู่หลักการ และนำไปประยุกต์ใช้จริง นั่นเป็นภาพฝันที่ฉันมีกับงานวิจัยวิทยานิพนธ์ในสถาบันการศึกษาทางเลือกที่น่าจะเป็น

ภาคบ่ายฉันพ่นอีกแล้ว

เรามีเวลาบ่ายได้ย่อยอาหาร ย่อยความคิด คุยกันกลุ่มย่อยตามมุมระเบียง ฉันนอนคุยอย่างขี้เกียจกับพี่จือ พี่เอง เราทั้งสามเหมือนเข้าแกงค์กันได้ดี ฉันชอบพี่ทั้งสองมาก รู้สึกว่าพี่ทั้งสองคนเป็นคนที่มีจิตใจดีจริงๆ
เราคุยกันว่างาน การบ้านที่เราส่งประจำสัปดาห์น่าจะได้คอมเมนต์กลับจากอาจารย์ พี่จือว่าส่งไปไม่รู้ถึงรึเปล่า ไม่เห็นอาจารย์พูดถึง หากได้รับการคอมเมนต์จากอาจารย์ก็จะทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของเราด้วย ฉันก็เห็นดัวยว่าน่าจะมีการได้รับคอมเมนต์กลับจะได้เป็นการร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนและสะท้อน หากแต่ก็เข้าใจว่าอาจารย์ดูเหมือนว่าจะมีงานมากมาย ฉันเสนอว่าเป็นเพื่อนร่วมชั้นก็ได้นะ ที่ได้อ่านแล้วสะท้อนกันเอง ไม่เห็นต้องรอแต่อาจารย์เลย พี่เองพี่จือพูดถึงเรื่องการเดินทางจากนครสวรรค์มาเรียนที่นี่ทุกสัปดาห์ว่าเป็นเรื่องอยู่เอาการ หากเป็นไปได้เรียนปีเดียวได้ก็ดี ฉันเองก็มีความรู้สึกว่า หากเราจะเอาวาระของผู้เรียนจริง บางทีเราก็จะกำหนดได้ว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าพร้อม จบการเรียนรู้ ณ ที่สถาบันนั้น ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องสองปีก็ได้

อาจารย์ประภาภัทรนำวาระการเรียนจากระเบียงให้เข้ามาเป็นวาระในการเรียนบ่ายนี้ อาจเป็นเพราะฉันไม่ได้อยู่ในวงสนทนาเดียวกับอาจารย์ฉันจึงรู้สึกว่าคุยกันเรื่องนอกตัว เรื่องในหัว เรื่องไกลๆกันอีกแล้ว ทั้งๆที่ฉันเก็บพลังผ่อนพักตระหนักรู้ 15 นาที ฉันก็เกิดอาการมึน ง่วง ขึ้นมาในบัดดล เมื่อ...เอาอีกแล้วพี่ชายตัวพ่อในห้องเรียน พี่ปาด เริ่มที่จะคุยเรื่องกรีก ทฤษฎีต่างๆ ในที่สุดฉันก็ต้องไปล้างหน้าอีกรอบ มะม่วงยังช่วยไม่ได้ ในที่สุดฉันก็ยกมือประท้วงอีก ( พี่ปาดคงเกลียดฉันไปแล้วแน่ๆ เลย ขอโทษนะคะพี่ปาด เนาว์ไม่ได้ตั้งใจป่วนพี่ป่าน อยากให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์กันจริง เนาว์อยากรู้จักพี่ปาดจริงๆ อยากให้การเรียนของเราเป็นการเรียน Transparent และ Transformative จริงๆ )

แล้วฉันก็พ่นด้วยว่า ฉันรู้สึกว่าเบื่อ ง่วง วาดรูปแล้วก็ยังไม่หายง่วง ต้องพยายามกระตุ้นตัวเองให้สนใจ อาจจะไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ว่ารู้สึกว่าไม่ In touch กับทุกคน รู้สึกเหมือนว่าเป็นชายขอบของห้องไปเลย ไม่ได้มีส่วนร่วม แล้วก็เล่าประสบการณ์ว่าเสาร์ที่แล้วเป็นเสาร์ที่มีพลังมาก เป็นเสาร์ที่ทำให้ฉันคิดว่าจะต้องชวนน้องๆ ที่ทำงานร่วมที่ห้วยหิ่งห้อยมาร่วมสังเกตการณ์เรียนรู้ด้วย จะได้เป็นพื้นที่ฝึกการเรียนรู้ สื่อสารกับคนอื่น แต่ว่าวันนี้บรรยากาศการเรียนไม่เป็นอย่างเสาร์ที่แล้ว อาจารย์อ๊อดตั้งคำถามให้ฉัน (name)เรียกชื่อมันออกมาว่ามันคืออะไร ฉันมีวาระอะไรในใจ เพราะฉันพูดและรู้สึกอย่างนี้กับห้องเรียนมาหลายครั้งแล้ว เป็นการสะท้อนที่ทำให้ฉันกลับมาทวน ย้อนว่าฉันต้องการอะไร มีวาระอะไรในใจ ฉันเองก็ไม่แน่ใจ เรียกมันออกมาไม่ได้ ว่าฉันต้องการอะไรจากห้องเรียนนี้ แต่รู้สึกแต่ว่าบางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ หากฉันเรียกมันออกมาได้ด้วยนามที่แท้จริง(name ) มันออกมาได้อาจทำให้ฉันเข้าใจตัวเองมากกว่านี้ และสื่อสารกับชั้นเรียนได้ดีกว่านี้ มากกว่าพ่น พ่น ออกมาหลายๆ ครั้ง

แต่ฉันก็ทำหน้าที่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของฉันในขณะนั้น เพราะว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา มีอยู่จริง ภาษาและข้อความที่สื่อสารออกไปอาจจะยังไม่ชัด เพราะฉันเองก็ยังเรียกชื่อมันออกมาไม่ได้ชัดนักในขณะนั้น

ดูเหมือนว่าอาจารย์ประภาภัทรจะเข้าใจ เล่าเกริ่นถึงว่าที่ระเบียง อาจารย์คุยกันถึงประสบการณ์ชีวิตอาจารย์ว่าชีวิตอาจารย์เคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อแม่ แต่สมัยนี้เราจัดสรรความหวังดีไว้ให้เด็กมากเกินไป จัดสภาพแวดล้อมจำลองให้เด็กมากเกินไป เด็กถูกทำให้เหมือนกับอยู่บนหิ้ง หรือเหมือนกับว่าเรา babysitting เด็กอยู่ตลอดเวลา
แล้วอาจารย์ก็ถามพี่เปิ้ล ถึงประสบการณ์เมื่อแรกมารุ่งอรุณ ถามถึงอาจารย์ครูใหญ่ เมื่ออาจารย์บอกมาได้ว่าขี้เกียจในการทำวิทยานิพนธ์โครงการย่อย แล้วก็เรื่องพี่ชาลีที่สามารถบูรณาการสามโคตรวิชาหิน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เข้าด้วยกัน แล้วพี่ป่านก็เริ่มขึ้นเขียง... แนะว่าพี่ชาลีต้องไปหาหนังสือมาอ่าน อาจารย์อ๊อดเห็นว่า อาจารย์ชาลีน่าจะเขียนหนังสือเองมากกว่ากับสิ่งที่ตัวเองทำ ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่การไปหาความรู้เพิ่มเติมก็จำเป็นยิ่ง อาจารย์ประภาภัทรเสริม ...

พี่ปาดขึ้นเขียงให้เราปอกหัวหอมกันแล้วค่ะ วันนี้

การปอกหัวหอม อาจทำให้เราแสบตา เจ็บปวด หากแต่ว่าฉันคิดว่าห้องเรียนของเรามี ภาชนะเพียงพอที่จะรองรับความจริง และประสบการณ์ที่ทำให้เราแสบตา หากแต่ว่าการปอกเปลือกหัวหอมกับชั้นเรียนเรา จะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้คนเราได้เรียนรู้ แต่ฉันก็รู้ว่าคนเราจะเปิด หรือ ปลอก เมื่อปัจจัยเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งมีกัลยาณมิตรและครูอาจารย์เคียงข้าง

ฉันเรียกชื่อมันออกมาได้แล้วว่าฉันมีวาระการเรียนอะไรในใจในห้องเรียน ป.โท ที่อาศรมศิลป์แห่งนี้ ฉันต้องการการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง Learning for transformation ซึ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเรียนรู้ที่ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดและตรรกะที่ไม่เห็นคุณค่าของความรู้สึก หากแต่เป็นห้องเรียนที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการความรู้สึกของผู้เรียน หรือช่วยผู้เรียนให้ดึงเอาปัญญาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่เรียนหรือในขณะที่ผ่านประสบการณ์นั้น และเชื่อว่าในประสบการณ์ของชีวิตทุกคนนั้นมีความรู้สึกประกอบอยู่ด้วยทุกๆ ครั้ง เพราะความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต เพราะความรู้และปัญญาไม่ได้มาจากการฟัง การอ่าน และการเห็นเท่านั้น คนเราได้ปัญญาจากการพินิจพิจารณาความรู้สึกทีเกิดขึ้นในประสบการณ์แต่ละอย่างด้วย และตัวปัญญานั้นยังชี้ทางให้เราอีกว่า ต่อไปนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ฉันอยากให้หัวใจของห้องเรียน ป โทของเราเป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหลังจากผ่านกระบวนการทบทวนสรุปบทเรียนจากการร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

*การเปลี่ยนแปลง จะเกิดขึ้นจากการที่หัวใจได้สัมผัสกับความทุกข์ หรือสุข ที่นำไปสู่ปัญญา แรงผลักดัน และการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง

ด้วยเหตุนี้เอง การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงถือเอาการเรียนรู้ผ่านอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนที่สำคัญพอๆ กับ หรือมากกว่าการเรียนรู้ที่หัวสมอง ความคิด ทักษะ เพราะการเรียนสองแบบหลังมีอยู่เกลื่อนกลาดทั่วไป และในสังคมที่ผู้คนถูกกดดันให้เก็บความรู้สึกและใช้ความคิดหรือตรรกะเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหาเช่นบ้านเรานี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการแสวงหาปัญญาจากความรู้สึก

*การอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง ( Training for Transformation ) ส่วนหนึ่งจากการเขียนและเรียบเรียงโดยโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น