วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

งานวิจัยสถาบันอาศรมศิลป์

บทเสริม
งานวิจัยสถาบันอาศรมศิลป์

ประเด็นการสัมภาษณ์ เสาวนีย์ สังขาระ
นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ปริญญาโท แขนงหลักสูตรการบริหารการศึกษา

ประวัติส่วนตัว
เรียน
หลากหลายๆรูปแบบ
-แบบเป็นทางการกับสถาบัน ได้ใบและกระดาษ-
จบการศึกษาปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์ มศว.ประสานมิตร
ได้ทุนเรียนประกาศนียบัตรครู Teacher Education Program ที่โรงเรียน Upatinas school National Coalition of Alternative Education, USA
เรียนฟิล์มสคูล Galliano Island Film and Television School ( GIFTS )

-แบบเรียนเป็นงานอดิเรก เรียนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงศักยภาพภายใน และเมื่อเจอปัญหาหน้าตัก-
Training for Change for Trainer TOT, USA
Woman Retreat and Ally, ศูนย์อบรมเพื่อผู้หญิงและความยุติธรรม
Life coaching & Counseling & Non-violence communication & Creative Community กับ เสมสิกขาลัย และ อาศรมวงศ์สนิท
เรียนแต่งเพลง ทำรายการทีวีสำหรับเด็ก เรียนเขียนบท

ทำงาน
ยากมากเลยที่จะระบุว่าตัวเองมีอาชีพอะไรในแบบฟอร์มต่างๆ จะบอกว่าทำงานรับจ้าง ก็รับจ้างตัวเองทำงาน ไม่เคยมีนายจ้าง ไม่เคยใช้ใบปริญญาสมัครงาน ไม่เคยมีสลิปเงินเดือน
งานที่ทำจริงๆ เป็นสิ่งเดียวกับเรื่องที่ใฝ่ฝัน ทำงานด้านการศึกษาทางเลือก สร้างชุมชนทางเลือก กับเด็กๆ กับชุมชนชายขอบ ทำงานอดิเรกรับจ้างทำสื่อ เป็นครู ปัจจุบันจะเป็นนักเรียนปริญญาโทเขียนวิทยานิพนธ์ให้จบเป็นงานหลักสี่เดือน

งานอดิเรก
มีมากมาย จนหาเวลาทำมันไม่หมด ไม่มีเวลาเหงาเลย !
อ่านหนังสือ เขียนบันทึก ถ่ายภาพ วาดภาพ แต่งนิทาน เดินปากคลองตลาดดูดอกไม้ เดินทาง อาสาสมัคร ฟังเพลง ดูหนัง ทำบ้านดิน ทำสวน ทำแอนนิเมชั่น

ความใฝ่ฝัน
“ฉันฝันจุ” มีชีวิตที่เป็นอิสระ เป็นนักออกแบบและสิ่งแรกที่ออกแบบคือออกแบบชีวิตตัวเอง เป็นนักเขียนที่บันทึกการเดินทางของชีวิต เป็น filmmaker ที่สร้างภาพยนตร์คลาสสิค อยากมีคอนเสิร์ตเล็กๆ สำหรับเด็กๆของตัวเองสักครั้ง มีโรงเรียนในบ้านของตัวเองอยู่ในฟาร์มและชุมชน กับครอบครัวที่น่ารัก สุดท้าย อยากมีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระ เป็นคนที่มีความสุขที่แท้ ยังประยชน์ให้คนเองและคนอื่น

มุมมองการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร ( ใช้ชีวิตแบบไหน/เวลาเกิดปัญหา จัดการอย่างไรกับชีวิต )
ใช้ชีวิตแบบ
- ผีเสื้อ – บินร่อน เรียนรู้ สมัยศึกษาเรียนรู้ปริญญาตรีและเรียนจบหนึ่งปี
- หิ่งห้อย – ส่องแสงวิบๆวับๆ กลางป่า สมัยทำงานโครงการเมล็ดดาวกล่อมฝัน เมล็ดดาวเดินทาง ศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย
- ดักแด้ – ปัจจุบัน บ่มเพาะจิตวิญญาณที่เป็นอิสระ ย้อนทวน เรียนรู้ รื้อถอน ใคร่ครวญการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเองมากว่าสิบปี เพื่อที่จะเปลี่ยนรูปอีกครั้ง!

เวลาเกิดปัญหา จัดการอย่างไรกับชีวิต
อดีตที่ผ่านมา
หนี กลัว โกรธ โทษคนอื่น โทษตัวเอง รู้สึกผิด
ปัจจุบัน
มองสภาพเงื่อนไข ปัจจัย ตามสภาพที่มันเป็น ยอมรับในตัวเอง มองดูธรรมชาติของตัวเอง รู้จักประมาณศักยภาพของตัวเอง มองเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง มองปัญหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต การงาน การจัดการกับปัญหาอย่างไร เป็นก้าวเดินสำคัญของชีวิตที่จะหักเห นำพา ชีวิตไปสู่เป้าหมาย
การรู้ตัวทั่วและทันว่าเรา หนี กลัว โกรธ โทษคนอื่น โทษตัวเอง รู้สึกผิด จะทำให้เราเห็นปัญหาแรกที่เป็นปัญหาภายในตัวเราก่อน เป็นหินก้อนใหญ่ที่เราเจอก่อน ที่เราจะจัดการกับปัญหาภายนอกประจำวัน ในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กับการงาน

ทำไมเลือกเรียนที่อาศรมศิลป์ คาดหวังอะไรกับที่นี่
“จังหวะ กาลเวลา เงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสม”
เรื่องราวมีอยู่ว่า เรากำลังทำการศึกษาสำหรับเด็กชายขอบ กล้าหาญมากเปิดโรงเรียนของตัวเอง “ศูนย์การเรียนห้วยหิ่งห้อย” เปิดมาครึ่งเทอม รู้เลยว่าจะเจอตอ สิ่งที่เชื่อมาตลอดเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กชายขอบใช่ แต่ว่ายังต่อจิ๊กซอร์เป็นภาพใหญ่ให้เห็นร่วมกันไม่ได้ รวมทั้งตัวเองก็ไม่พร้อมบางเรื่องหัวใจหลักในการบริหารการศึกษา โทรปรึกษากัลยาณมิตรหลายๆ คน จนคุยกับ โจ้ ธนา ให้ข้อมูลเรื่องการเรียน ป.โท ศึกษาศาสตร์ที่สถาบันฯ ที่ต้องสมัครวันนั้น สอบสัปดาห์ต่อไป เรียนสัปดาห์ถัดมา ฉันจึงได้สัญณาณ ว่านี่ล่ะใช่ ทันใจ ทันการณ์ จังหวะ เงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสม
ความคาดหวังกับการเข้ามาเรียนในสถาบัน
ต้องการมีชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เป็นสภาพแวดล้อม พื้นที่ปลอดภัยและเปิดให้เราย่อยประสบการณ์จริง งานหน้าตักที่เราทำอยู่ สิ่งที่เราทำผ่านมา และสิ่งที่เรายังฝันจะทำในอนาคต คาดหวังที่จะได้เรียนเพิ่มเติมเรื่องการบริหารการศึกษา คาดหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์และสติปัญญาของคนอื่น คาดหวังจะบ่มเพาะจิตวิญญาณของความเป็นครู คาดหวังมากที่สุดว่าจะได้ย่อยประสบการณ์ของตัวเอง เรียนรู้จักและเข้าใจในตัวเอง รู้เท่าทันตัวเอง และโลกอันกว้างใหญ่

การเรียนการสอนของอาศรมศิลป์เป็นอย่างไร ( เนื้อหาและกระบวนการ ) แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นอย่างไร
สำหรับตัวเอง คิดว่า สถาบันฯ เปิดพื้นที่กว้างใหญ่มากเพื่อให้ผู้เรียนสร้าง เนื้อหาและกระบวนการตามแต่วาระของผู้เรียน เพื่อให้ลื่นไหล สอดคล้อง ยืดหยุ่น ตามวาระของผู้เรียนในห้องจริงๆ ผู้เรียนมีประสบการณ์หลากหลาย ต่างกัน บางทีก็ดูเหมือนโยนหินถามทาง คลำๆ ทางไปด้วยกัน หาทางเดินไปร่วมกัน
มีการสร้างภาชนะการเรียนรู้? พื้นที่ปลอดภัย? รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง? กระบวนการมีส่วนร่วม?
ระบบพี่เลี้ยง? ที่ปรึกษา? ติดตามประเมินผล? เหล่านี้เป็นกระบวนการร่วมหาทางเดินไปด้วยกัน
เรียนกันสบาย สบาย ไม่มีการเลคเชอร์ จดตามการบรรยาย ทำการบ้านจากการค้นหาความรู้นอกตัว เนื้อหาและกระบวนการเรียน คือการใคร่ครวญ ค้นหาความรู้ สติปัญญาจากภายในตัวเรา การบันทึกการเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ มุ่งให้เรามองย้อน ทบทวน เชื่อมโยง สัมพันธ์สิ่งที่เราร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้จากชั้นเรียน และจากชีวิตของเรา
บางสัปดาห์อยากมาเรียน บางสัปดาห์ไม่อยากมาเรียน บางสัปดาห์ไม่น่าตื่นเต้น ไม่เข้าใจ น่าเบื่อในที รู้สึกเสียเวลาบางครั้ง รู้สึกว่ารอที่จะให้หมดเวลาในห้องเรียนเพื่อไปเรียนวิชาพละตอนเย็น ให้เท้าไปเหยียบทราย วิ่งให้เหงื่อไหลไคลย้อย บางสัปดาห์รู้สึกว่าเวลาหมดไปเร็วมาก ตั้งหน้าตั้งตารอสัปดาห์ต่อมา รู้สึกว่าอยากให้วันเสาร์มาถึงจริงๆ ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นจริงและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาภาคการเรียนแรกของตัวเอง ตัวเองตั้งข้อสังเกตเมื่อกลับไปย้อนดูว่า เกิดจากสาเหตุใด คิดว่าน่าจะมาจากการที่เราแยกส่วนการเรียนในห้องเรียนวันเสาร์กับชีวิตของเรากับอีกหกวันในสัปดาห์ที่เราผ่านประสบการณ์ หรือกับอดีต หรือแผนการในอนาคตที่เราวางไว้ และหากสัปดาห์นั้นไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนร่วมเรียนแต่ละคนอย่างใคร่ครวญและลงลึก หากเป็นการมาเลคเชอร์ เจื้อยแจ้ว วิพากษ์วิจารณ์ระบบ คนอี่น แต่ไม่ได้มีการมองย้อนเข้าไปในตัวเอง เอาประสบการณ์จริง หน้าตักมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันสดๆ เหล่านี้เป็นตัวร้อยเรียง เนื้อหาและกระบวนการที่สถาบันฯ พยายามเปิดให้กว้างมากๆ ผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่ตักตวง สร้างภาชนะ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเองอย่างแท้จริง ขยายขอบเขตพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเอง ไม่มีใครก้าวเดินแทนเราได้ สถาบันเพียงสร้างสภาพแวดล้อมให้เราก้าวเดินเอง

ต่างจากสถาบันอื่นอย่างไร
ไม่แน่ใจ เพราะไม่เคยผ่านประสบการณ์ปริญญาโทจากสถาบันอื่นด้วยตัวเองจึงพูดได้ไม่เต็มปาก แต่เท่าที่เทียบประสบการณ์กับเพื่อนสนิทที่เรียนปริญญาโท ม.นเรศวร ด้วยกัน ณ เวลานี้ ดูเพื่อนทุกข์ทรมานมากกับการเรียน จดเลคเชอร์มือหยิก กลับมาบ้านต้องมาถอดเทปที่อาจารย์สอน ต้องทำการบ้าน ค้นหาตำรามากมาย ประกอบการขียนรายงานส่งไม่เว้นสัปดาห์ อาทิตย์ก่อนไปสอบถึงกับเครียดลงกระเพาะอาหาร เราคุยกันตลอดเรื่องการเรียนเหมือนเรียนด้วยกัน เพื่อนถามว่าการบ้านสัปดาห์นี้มีอะไร ฉันบอกเพื่อนว่า บันทึกการเรียนรู้ภายในโยงใยสัมพันธ์ เพื่อนไม่เข้าใจขออ่านการบ้านของเรา พอฉันส่งบทความการบ้านให้อ่าน เพื่อนบอกว่าเป็นการบ้านที่มีค่า น่าสนุก และต้องเปิดเผย รื้อค้นจากภายในตัวตนเองมาก ดูมีคุณค่าน่าเรียนรู้มากกว่าการไปค้นคว้าตำราแล้วมาปะติดตำราวิชาการมาเรียงร้อยกันใหม่ ไม่ได้ทำให้เธอเรียนรู้อะไรจริงๆ แล้วฉันถามว่าแล้วจะเสียเงิน เสียเวลาเรียนทำไม เครียดก็เครียด มีความสุขหรือเปล่า เพื่อนบอกว่า ไม่กล้าหาญพอจะเลือกทางเลือกของตัวเอง คงต้องเดินตามกระแสสังคมไป ใครๆ เขาก็เรียนกันแบบนี้ การงานจะได้ก้าวหน้า ได้ปริญญากันเพราะแบบนี้ เธอทำงานอยู่พื้นที่การศึกษาจังหวัดพิษณุโลก...
ฉันบอกเพื่อนอีกว่า ฉันเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปสองรอบแล้ว เพื่อนตกใจ เพราะเพิ่งเรียนเทอมเดียว ทำไมถึงเสนอวิทยานิพนธ์ได้ ฉันบอกว่าเพราะฉันรู้สึกว่าพร้อมแล้วไง รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนแต่วันเสาร์ในห้องเรียนมากกว่าหนึ่งปีแล้ว รู้สึกว่าฉันสร้างการเรียนรู้เองได้ เจอขุมสมบัติความรู้ภายในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอให้ใครมาบอก มาแค่น มาตาม มาบังคับว่าเราจะเรียนอะไร เสนอวิทยานิพนธ์ได้เมื่อใด จบได้เมื่อใด หลักสูตรการเรียนรู้จะเป็นอย่างไร สร้างเองเลย เพื่อนฉันจึงย้อนถามด้วยคำถามของฉันว่า แล้วฉันจะเสียเงินเรียนไปทำไม ในเมื่อเรียนเองได้ ฉันพยักหน้า ตอบด้วยคำตอบของมันว่า “ยังไม่กล้าหาญพอ…” และยังมีความสุขดีอยู่พอสมควร
เราหัวเราะด้วยกัน!
แต่ฉันเห็นว่า เพื่อนฉันน้ำลายสอ ฉันอยากจับมันกระชาก ขย้ำสักสามที แล้วก็พาไปลาออก มาเข้าเรียนที่อาศรมศิลป์ปีหน้า แต่มันคงไม่เอาแล้วย้ำคำตอบเดิมว่า “ยังไม่กล้าหาญพอ…”

ประเด็นในแต่ละวิชาและกิจกรรม เช่น
-มงคลชีวิตและวิถีสุขภาวะแบบองค์รวม ( สวดมนต์ สนทนาธรรม สุขภาพวิถีไทย จริยศิลป์ ภาษและเทคโนโลยี การบริหารการศึกษาและโปรแกรมการศึกษารายบุคล (IEP) วิชานั้นเป็นอย่างไร ( กระบวนการ/เนื้อหา/ความรู้สึก ) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ( เนื้อหา/ความรู้สึก/คุณค่า) เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตนเองอย่างไร
ได้มีการนำสิ่งที่ได้ไปใช้ไหม อย่างไร ( ทั้งบนการทำงานและการใช้ชีวิต) คิดว่าเครื่องมือที่สำคัญของวิชานี้คืออะไร คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จในการเรียนวิชานี้ไหม เพราะอะไร ข้อเสนอแนะสำหรับวิชานี้

มงคลชีวิตและวิถีสุขภาวะแบบองค์รวม
-การสวดมนต์ร่วมกัน-
เป็นมงคลชีวิต และเป็นพลัง นำสมาธิในแต่ละวัน เป็นการปฏิบัติที่นำจุดเริ่มต้นแห่งวันเรียนที่ดีด้วยกัน หากแต่ว่าการนำไปปฏิบัติต่อเนื่องด้วยตัวเองที่บ้าน ยังเป็นคำถาม และเป็นวินัย และเรื่องที่นักศึกษาแต่ละคนจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน สำหรับตัวเอง พยายามปฏิบัติให้ได้เป็นประจำวัน สั้นบ้างยาวบ้าง แล้วแต่วาระแต่ละวัน ถามกลับว่าทำไมถึงนำกลับไปทำ เพราะตัวเองผ่านประสบการณ์ที่ทำให้เห็นคุณค่าว่าการสวดมนต์ประจำวัน นำสติ สมาธิ ปัญญา และที่สำคัญทำให้เรากลับมาอยู่กับตัวเอง ได้ในแต่ละวัน

-สุขภาพวิถีไทย-
ดีมากที่มีในเวลาเย็นของแต่ละวัน อาจารย์มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชา อยู่ในเนื้อในตัวอาจารย์จริงๆ แต่ว่าตัวเองไม่นำไปปฏิบัติเป็นประจำมากที่ควร การออกกำลังกาย ยังเป็นเรื่องที่ไม่เข้ามาในชีวิตประจำวันจริงๆ ยังให้เวลา ความสำคัญตรงนี้ไม่ได้จริงๆ หากให้ประเมินตัวเองตรง แม้แต่การทำโยคะที่ตัวเองชอบ ก็ยังทำบ้างไม่ทำบ้าง เคยเขียนไปในบทประเมินว่า อาจยังไม่เห็นโลงศพจึงยังไม่หลั่งน้ำตา คือยังไม่เคยไม่สบาย จึงยังไม่เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย และวิถีสุขภาพองค์รวม จนกระทั่ง ช่วงต้นปีใหม่ที่ผ่านมา ไม่สบายต่อกันสองสัปดาห์ จึงลุกขึ้นมามองเรื่องวิถีสุขภาพองค์รวมกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงการออกกำลังกาย การเยียวยารักษา หากแต่เป็นวิถีการใช้ชีวิตเลยทีเดียว ทั้งการกิน เป็น อยู่ แต่อย่างไร เมื่อตัวเองก็ยังไม่ออกกำลังกาย แม้จะทำงานที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำสวน สร้างบ้าน อยู่ในธรรมชาติ หายใจดี ได้ทำกิจกรรมประจำวันที่ทำให้เหงื่อออก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ายังต้องออกกำลังกายหรือไม่ แสดงว่ายังไม่เข้าใจจริง


รู้ได้อย่างไรว่า ตนเองเกิดการเรียนรู้แล้ว
“เห็นตัวเอง” เมื่อมีความรู้สึก สิ่งใดเข้ามากระทบ เรารู้ตัว ทั่วถึง รู้ว่าเราเข้าใจ เราไม่เข้าใจ เราไม่พอใจ เราพอใจชอบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา ซึ่งอาจส่งผลมาถึงทรรศนคติและพฤติกรรมของตัวเรา
การเรียนรู้กับความรู้สึกสดๆ เกิดขึ้นจริง ผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งนำสู่การเปลี่ยนแปลง เหมือนการเรียนรู้ธรรม ธรรมชาติของตัวเอง เรียนรู้จักตัวเอง มีสติ สมาธิที่เห็น และเท่าทันความคิด ปรุงแต่ง อคติ กิเลส ความอยาก ความโลภ ความโกรธ แม้แต่อยากทำดีๆ

ให้นิยาม “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” คืออะไร
พี่นิด เคยพูดในชั้นเรียนสัปดาห์หนึ่งว่า ชุมชนแห่งการเรียนรู้ แท้จริงแล้วอยู่ในตัวเรา เราต้องสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ภายในตัวเราก่อน เพราะฉะนั้น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” คืออะไร สำหรับฉันคิดว่า คือกระบวนการ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้าใจ พึ่งพาสติปัญญาของตนเอง แต่ละคนเป็นอิสระ
แลก- ประสบการณ์ที่ตนผ่านจริง
เปลี่ยน-ประสบการณ์นั้นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในตนอย่างไร
เรียน-เนื้อหาจากประสบการณ์สดจริงผ่าน
รู้-รู้จักและเข้าใจในตัวเองและผู้อื่นอย่างง่ายดาย แต่ละคนเป็นอิสระ


เข้าใจคำว่า “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” อย่างไร สิ่งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เป็นนักศึกษาที่นี่ไหม อย่างไร ยกตัวอย่าง
คำตอบดูจากบทความการบ้านแต่ละสัปดาห์ได้เลยเจ้าค่ะ!

ปัจจัยเกื้อหนุน/อุปสรรคต่อการพัฒนาเรียนรู้ของตน ขององค์กรคืออะไร
ปัจจัยเกื้อ
การบูรณาการวิชา การให้บรรยากาศ พื้นที่การเรียน กระบวนการเนื้อหา ตามวาระของผู้เรียน
อุปสรรค
บางทีความไม่ชัดในกระบวนการ การดำเนินกระบวนการ การสร้างภาชนะในการเรียน หากมีกระบวนกรอำนวยกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ช่วยนำพา สร้างกระบวนการให้ชัดเจนขึ้น ช่วงดึง สรุปร่วม จะพาให้ห้องเรียนไปด้วยกันได้เร็วขึ้น บริหารเวลาได้มากขึ้น หากแต่ว่าในอีกแง่มุมหนึ่ง ตัวอุปสรรคตัวนี้ อาจเป็นปัจจัยเกื้อในทีก็ได้ ที่จะเปิดกว้าง กว้างจริงๆ ให้ผู้เรียนขยับ พ่น อึดอัด สร้างกระบวนการ พื้นที่ วิธีการ เนื้อหา อำนวยการเรียนด้วยตัวเอง ด้วยการร่วมชั้นเอง


เรียนที่นี่มีความสุขไหม ตัวชี้วัดความสุขของนักศึกษาคืออะไร
คิดว่าเราต้องเริ่มพูดกันที่นิยามของความสุขคืออะไรก่อน สุขที่แท้ด้วย หากความสุขที่แท้ คือ จิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่หลงใหลไปกับความสุขที่ได้รับ แต่รักษาจิตไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ทุกข์ใจเศร้าใจไปทุกข์ที่เข้ามาทดสอบ แต่กล้ายอมรับมัน ความสุขสูงสุดที่แท้ของมนุษย์อยู่ที่จิตที่ไม่มีกิเลสและเป็นกลางๆ ไม่ดีใจจนเกินไป ไม่เสียใจจนเกินไป เป็นกลางๆ คือสบายใจโล่งใจ
นิยามความสุขข้างต้นทำให้เราสามารถสร้างและชี้วัดความสุขได้ชัดเจน...
ผลการชี้วัด ... ฉันว่าฉันมีความสุขดีพอประมาณในการมาเรียนที่สถาบันฯ ไม่หลงใหลไปกับความสุขที่ได้รับจากคนรอบข้างว่าเราเป็นนักศึกษาปริญญาโทแล้วนะ แม่พ่อดีใจที่กลับมาเรียนต่อ แต่ในใจเรารู้ว่าเราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาปริญญาโท และเราไม่ได้เข้ามาเรียนเพื่อหวังปริญญา แต่เข้ามาเพื่อศึกษาเรียนรู้ สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เข้ามาทดสอบทางเลือกทางการศึกษาเรียนรู้ ที่น่าจะมีกัลยาณมิตรเดินร่วมทางเพิ่มขึ้น เข้ามาเพื่อตรวจสอบ ย้อนทวน และรื้อถอนประสบการณ์การเรียนรู้ ทำงานตามความฝันและเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง ว่ามันแน่ ชัด สร้างความหมายให้อะไร และที่สำคัญเข้ามาเพื่อเรียนรู้จักและเข้าใจในตัวเอง เมื่อเรามีเป้าหมายชัดในการเดินทาง เราก็ชี้วัด ตรวจประเมินการเดินทางของเราได้อย่างชัดเจน ฉันมีความรู้สึกเป็นกลางๆ กับการเดินทางเข้าสถาบันฯ ไม่สุขไม่ทุกข์เกินไป สบายๆ ย้อนทวน ตรวจสอบ ประเมินตัวเองทั้งความรู้สึก ทรรศนคติ พฤติกรรม การเรียนรู้เปลี่ยนแปลง ฉันคิดว่าเป็นสิ่งดีและประกอบกาลเวลา เงื่อนไข ปัจจัยที่เหมาะสมที่ฉันได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ที่สถาบันฯ ต้องขอบคุณสถาบันค่ะ ที่ให้โอกาส บรรยากาศ และพื้นที่ในการเรียนรู้อย่างแท้จริง และต้องขอบคุณตัวเองที่ใช้โอกาส พื้นที่ บรรยากาศ นั้นได้อย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์ในการรู้จักและเข้าใจในตัวเองค่ะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น